ธรรมนัส แจง อภิปรายทั่วไป ยัน รัฐบาลเร่งปราบปรามยางพารา-หมูเถื่อน

04 เม.ย. 2567 | 19:00 น.

ธรรมนัส แจง รัฐบาลเร่งปราบรามยางพารา-หมูเถื่อน ควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ รักษาเสถียรภาพราคา ป้องกันสินค้าล้นตลาด จนราคาตกต่ำ 

ในการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 วันนี้ (4 เมษายน 2567) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงประเด็นการแก้ไขปัญหายางพารา และหมูเถื่อนว่า รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามที่จะรักษาเสถียรภาพราคายางพาราให้สมดุลทั้งปริมาณการซื้อและการขาย และจากการเจรจากับสหภาพยุโรป รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ขอให้ไทยอย่าใช้นโยบายที่เตือนกลไกการตลาดเลยเด็ดขาด

รวมทั้งให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดโลกที่ต้องการยางพาราที่ได้รับมาตรฐานตามกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยการส่งสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือเป็นการทำเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยขอให้ไทยเป็นประเทศนำร่อง ในเรื่องนี้ ควบคู่กับการรณรงค์ให้มีการใช้ยางพาราในประเทศให้มากที่สุด จนในปัจจุบันราคายางพาราปรับตัวดีขึ้น จนชาวสวนยางพอใจ 

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาราคาสุกรหน้าฟาร์มตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีการลักลอบนำเข้าสุกรเถื่อน และวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำเข้ามีราคาสูง ขณะที่ปัจจัยภายในมีมาตรการควบคุมโรค AFS  ทำให้สุกรล้นตลาดและความต้องการบริโภคลดลง 

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา คือ การปราบปรามควบคุมสุกรเถื่อนอย่างเข้มงวด โดยยึดความผิดตามกฏหมาย เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมถึงลดปริมาณตามลูกสุกรไปแปรรูปเป็นหมูหัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อสามารถทำให้ราคาหน้าฟาร์มกับต้นทุนสมดุลกันได้แล้ว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้บริโภคที่ต้องซื้อสุกรในราคาที่สูงขึ้นจึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรขึ้นมาโดยมีสมาคมผู้เลี้ยงสุกรและผู้ประกอบการนำเข้า รวมถึงตัวแทนที่เกี่ยวข้อง รวมกันควบคุมดูแลราคาสินค้าให้เป็นไปอย่างเหมาะสม 

ขณะที่การแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ เพราะส่งผลกระทบต่อชาวประมง 23 จังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านเกือบ 50,000 ครอบครัว ที่ไม่สามารถทำการประมงได้ รัฐบาลจึงแก้ไขกฎหมายรอง 19 ฉบับ ให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำมาหากินได้ดังเดิม

นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำ ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกำหนดแนวทาง การนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำตามหลัก IUU คือ การตรวจสอบย้อนกลับเพื่อป้องกันโรคระบาด และมีการเก็บค่าทำเนียมการนำเข้า เพื่อลดปริมาณน้ำเข้า และมาซื้อสัตว์น้ำจากชาวประมงไทยแทน