นายกฯกางนโยบาย EV แลนด์บริดจ์ ดึงยุโรปลงทุนไทย

13 มี.ค. 2567 | 19:15 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2567 | 20:47 น.
968

"เศรษฐา"พบผู้ประกอบการ SMEs เยอรมนี พร้อม โชว์วิสัยทัศน์ และนโยบายของรัฐบาลไทย ทั้งการสนับสนุน EV โครงการแลนด์บริดจ์ และการเจรจา FTA ไทย -ยุโรป หวังสร้างความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนเยอรมนีมาไทย

วันที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง) ณ STATION Berlin กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงรับรองประจำปีของสมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี (German Association for Small and Medium-Sized Businesses: BVMW) โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

 

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ร่วมงานเลี้ยงรับรองประจำปีฯ และพบปะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเยอรมนี และนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้สนับสนุนความร่วมมือระหว่าง SMEs ไทยและเยอรมนี นำเสนอศักยภาพของไทย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ SMEs เยอรมนีในการที่จะเข้ามาลงทุนในไทย พร้อมกล่าวถึงวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล รวมถึงได้แสดงความมุ่งมั่นในการกระตุ้นการขยายการลงทุนของ SMEs ในไทย ดังนี้

 

"เศรษฐา"พบผู้ประกอบการ SMEs เยอรมนี พร้อม โชว์วิสัยทัศน์ และนโยบายของรัฐบาลไทย 8 ข้อ
 

1. แนวคิดด้านการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่น และมีแนวทางอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสีเขียวมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค และสามารถเป็นแหล่งการผลิตยานยนต์สีเขียวให้เยอรมนีได้ โดยรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในการทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคตของภูมิภาค โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า


 
รัฐบาลได้ออกมาตรการ “ตลาดนำ” ที่ส่งเสริมอุปสงค์รถไฟฟ้า พร้อมเพิ่มแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในการขนส่งมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังต้องการไฮโดรเจนสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับการขนส่งทางไกล และอุตสาหกรรมหนักในไทย ทั้งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ และการแปรรูปอาหาร พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับ SMEs ของเยอรมนี ที่เชี่ยวชาญด้านไฮโดรเจนสีเขียว และในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการผลิตที่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตร้อยละ 50 ภายในปี 2583 และมาตรการ Utility Green Tariff ที่ส่งเสริมการนำพลังงานไฟฟ้าสะอาดไปใช้ด้วย
 
 

2.ระดับภูมิภาค (Regional Community) รัฐบาลมุ่งสร้างโอกาสและยกระดับศักยภาพของประเทศจากข้อได้เปรียบเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของไทย และนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ Landbridge ซึ่งจะลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างสองมหาสมุทร และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแบบไร้รอยต่อ


 
สำหรับเป็นศูนย์กลางการบินเพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของโลก ไทยกำลังหารือแนวทางการสร้างสนามบินใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ ตลอดจนยกระดับสนามบินในเมืองหลักและเมืองรอง รวมถึงจะเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค และด้วยศักยภาพในเชื่อมโยงภูมิภาคอินโดแปซิฟิคดังที่ได้กล่าวมานี้ จึงขอเชิญชวน BMVW มาจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในไทยด้วย


 
3.การเปิดกว้าง รัฐบาลกำลังอยู่ในกระบวนการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ที่ตั้งเป้าให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2568 ซึ่งจะถือเป็นกลไกสำคัญในการขยายการส่งออกจาก EU มาไทยเพิ่มมากกว่า 40% และการส่งออกจาก EU ไปไทยมากกว่า 25% รวมถึงเป็นการยกระดับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ดึงดูดให้ประเทศในสหภาพยุโรปอื่น ๆ มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ไทยยังอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจ ด้วยโครงการการยกเว้นวีซ่าและการตรวจลงตราวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์

 

 นอกจากนี้ ไทยในฐานะศูนย์กลางของการท่องเที่ยวของโลก ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันมากกว่า 7 แสนคน ในปี 2566 ในทางกลับกัน รัฐบาลหวังว่าคนไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปเยอรมนีและ EU มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยสามารถพำนักระยะสั้นโดยไม่ต้องขอวีซ่า

"เศรษฐา"พบผู้ประกอบการ SMEs เยอรมนี พร้อม โชว์วิสัยทัศน์ และนโยบายของรัฐบาลไทย 8 ข้อ
 
4.ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งครอบคลุมถึงความยั่งยืน ทั้งในการตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก โดยให้ความสำคัญกับการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืน โดยการเปลี่ยนผ่านสีเขียวจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับเยอรมนีในการนำเทคโนโลยีมามีส่วนร่วมในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก


 
นอกจากนี้ ความยั่งยืนยังรวมถึง การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยนชน ความรับผิดชอบ และความเท่าเทียม ซึ่งไทยมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในฐานะประเทศแรกของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้นำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนมาใช้ โดยพร้อมแสวงหาความร่วมมือกับภาคธุรกิจของเยอรมนี ในการปฏิบัติตาม Supply Chain Due Diligence Act ของเยอรมนี ที่มีจุดประสงค์มุ่งผลักดันให้ทั่วโลกทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามหลักสิทธิมนุษยชน และแนวคิด ESG


 
5.การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างไทยและเยอรมนี ซึ่งจะเป็นเวทีในการสนับสนุนให้เกิดการหารือกันระหว่างสองประเทศเกี่ยวกับการสร้างและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจของทั้งสองประเทศ


 
นายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงท้ายว่า แนวคิดข้างต้นล้วนจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับศักยภาพความร่วมมือไทย-เยอรมนี พร้อมกล่าวเน้นย้ำว่า SMEs ของเยอรมนีจะมีโอกาสเติบโตมี Big Future ในไทยอย่างมหาศาล

"เศรษฐา"พบผู้ประกอบการ SMEs เยอรมนี พร้อม โชว์วิสัยทัศน์ และนโยบายของรัฐบาลไทย 8 ข้อ