"เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างเดินทาง "โรดโชว์" ต่างประเทศ 10 วัน ออสเตรเลีย เยอรมนี-ฝรั่งเศส
ทันที่ "เศรษฐา" เดินทางกลับในวันที่ 14 มีนาคม 67 "นายกรัฐมนตรี คนที่ 30" เตรียมแถลงผลงาน 6 เดือน ความสำเร็จในการเดินทางพบปะผู้นำมหาอำนาจโลก นักลงทุน-บริษัทชั้นนำ 15 ประเทศ ไขข้อข้องใจว่า คนไทยได้ประโยชน์อะไรจากการเดินทางไปต่างประเทศกว่า "ครึ่งปี" ที่ผ่านมา
"ก้าวแรก" ของนายเศรษฐาที่เหยียบนอกประเทศ “ทริปแรก” เพื่อไปประกาศต่อชาวโลกว่า "ประเทศไทยเปิดแล้ว" หลังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ครองอำนาจมากว่า 9 ปีเต็ม และประกาศตัวเองว่าเป็น "เซลส์แมน"
ทว่า "เศรษฐา" ต้องเจอ "รับน้องใหม่" กระสุนการเมือง-กระแสวิพากษ์วิจารณ์ “เช่าเหมาลำ” เครื่องบิน “การบินไทย” 30 ล้านบาท เพื่อเดินทางไปประชุมสหประชาชาติ ไม่ใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศเฉกเช่นเดียวกับยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
มิหนำซ้ำยังมี “คนติดตาม” ที่ไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เพียงแต่เดินตามเศรษฐาในฐานะ "เลขาฯส่วนตัว" โดยเฉพาะ “คนใกล้ชิด” คือ “บุตรสาว” ร่วมคณะไปด้วย
รายละเอียดของเครื่องบินเช่าเหมาลำของบริษัทการบินไทย ในปีงบประมาณ 66 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่การเอกสารจ้างการรับขนคนโดยสารทางอากาศโดยเครื่องบินพาณิชย์สำหรับภารกิจการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ของ นายกรัฐมนตรีและและคณะ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18 -24 กันยายน 2566 วงเงิน 30 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบิน จำนวน 4,848,300 บาท
- ค่าเชื้อเพลิงอากาศยาน จำนวน 16,800,000 บาท
- ค่าอาหารและเครื่องดื่มระหว่างบิน จำนวน 1,479,520 บาท
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติการภาคพื้น จำนวน 3,065,955 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จำนวน 3,806,224 บาท
สำหรับงบประมาณปี 2567 ของสำนักนายกรัฐมนตรี มีงบประมาณที่อยู่ในส่วนของ การขับเคลื่อนการอำนวยการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี-งบรายจ่ายอื่น ที่เป็น “ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว” วงเงิน 71.150 ล้านบาท
นอกจากนี้ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีคำขอโครงการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทั้งการลงทุนในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ วงเงิน 68.657 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ค่าใช้จ่ายชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ วงเงิน 44.874 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายชักจูงการลงทุนในประเทศ วงเงิน 1.480 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม วงเงิน 1 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการเสริมภาพลักษณ์การลงทุน วงเงิน 12.5 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและพัฒนาการลงทุนไทยในต่างประเทศ วงเงิน 1.8 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนบริการด้านสมาร์ทวีซ่า SMART Visa และ LTR Visa วงเงิน 7 ล้านบาท
สำหรับ 15 ประเทศที่นายเศรษฐเดินทางไปราชการต่างประเทศ ประกอบด้วย
- วันที่ 18 – 24 กันยายน 2566 เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
- วันที่ 28 กันยายน 2566 เดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 8 - 12 ตุลาคม 2566 เยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 เข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 (BRF) และการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 20 - 21 ตุลาคม 2566 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
- วันที่ 30 ตุลาคม 2566 เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 12 – 19 พฤศจิกายน 2566 เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (APEC) ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
- วันที่ 14- 19 ธันวาคม 2566 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
- วันที่ 15 -19 มกราคม 2567 เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส
- วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 เยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 4 - 6 มีนาคม 2567 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ ณ นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย
- วันที่ 7- 13 มีนาคม 2567 เยือน สาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ณ กรุงปารีส และเมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส และเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี