“ภัทรศักดิ์ วรรณแสง”ฉลุยนั่งกรรมการป.ป.ช. มติส.ว.ไฟเขียว 186 ต่อ 2 เสียง

20 ก.พ. 2567 | 14:06 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2567 | 14:17 น.

ส.ว.มีมติ 186 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบ "ภัทรศักดิ์ วรรณแสง" อดีตรองประธานศาลฎีกา นั่งกรรมการป.ป.ช. คนใหม่ ไร้ข้อกังขาคุณสมบัติ

วันนี้ (20 ก.พ. 67) ในการประชุมวุฒิสภา มีวาระสำคัญการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (กรรมการ ป.ป.ช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 14 แทน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์

โดยบุคคลที่ผ่านการเสนอมาถึงมือ ส.ว. คือ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ในฐานะอดีตรองประธานศาลฎีกา ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566 โดยเป็นการพิจารณาและลงมติคะแนนแบบลับ ภายหลังการพิจารณาของคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วเสร็จ

                           “ภัทรศักดิ์ วรรณแสง”ฉลุยนั่งกรรมการป.ป.ช. มติส.ว.ไฟเขียว 186 ต่อ 2 เสียง

ผลปรากฏว่า ที่ประชุมวุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบให้ นายภัทรศักดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยมติเห็นชอบ 186 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 คะแนน และงดออกเสียง 5 เสียง

ทำให้คะแนนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่หรือ 125 เสียง จึงเห็นควรให้ นายภัทรศักดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.

 

สำหรับประวัติของ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง

เกิด     15 เมษายน 2501 ปัจจุบันอายุ 66 ปี 

การศึกษา :    

-นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-เนติบัณฑิตไทย (กฎหมาย) สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิต

-นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายเอกชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Master of Laws Temple University, สหรัฐอเมริกา

การอบรมและสัมมนา :    

-หลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 8 จาก สถาบันพระปกเกล้า

-หลักสูตร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 2552  

-หลักสูตร หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่นที่ 1 จาก สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ประวัติการทำงาน :     

รับราชการครั้งแรก ปี 2523 เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

เข้าสู่วงการตุลาการเมื่อปี 2527 ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา

ปี 2528 ผู้พิพากษาประจำกระทรวง 

ปี 2529 ผู้พิพากษาศาลจังหวัดกำแพงเพชร 

ปี 2535 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะประจำกระทรวง 

ปี 2536 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าในศาลจังหวัดนนทบุรี 

ปี 2537 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา 

ปี 2539 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

ปี 2540 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดเชียงใหม่ 

ปี 2543 ผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญากลาง 

ปี 2545 ผู้พิพากษาหัวคณะศาลทรัพย์สินทางปัญญากลาง และรองอธิบดีศาลทรัพย์สินทางปัญญากลาง 

ปี 2546 เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญากลาง 

ปี 2547 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา 

ปี 2549 ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลฎีกา 

ปี 2552 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา

ปี 2554 ตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง 

ปี 2556 ตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  

สำหรับ นายภัทรศักดิ์ ถือเป็นผู้พิพากษาที่มีความรู้ความสามารถทั้งการพิจารณาคดีแพ่ง-อาญาและศาลชำนัญพิเศษ รวมทั้งงานวิชาการ เคยดูแลสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ และสถาบันพัฒนาข้าราชการตุลาการ เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และ อดีตรองประธานศาลฎีกา ระหว่าง 1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566