เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 2567 เช็คไทม์ไลน์ล่าสุดที่นี่ 

20 ก.พ. 2567 | 00:05 น.
5.9 k

คนรักประชาธิปไตยต้องไม่พลาด "เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2567" กกต.ประกาศรายละเอียด 20 กลุ่มบุคคลที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. 200 คน พร้อมไทม์ไลน์ล่าสุด คลิกอ่านรายละเอียดได้ที่นี่

สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กำลังจะหมดเวลาลงในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้

ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 โดยเปิดรูปแบบบัตรเลือกตั้ง สว.ทั้ง 3 ระดับ คือ "อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ" ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้มีผลเมื่อวันที่ 16 ก.พ.67 ที่ผ่านมาแล้ว โดยสาระสำคัญของระเบียบการเลือก สว. ชุดใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้  

ทั้งนี้ ก่อนวันที่อายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 30 วัน ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประสาน ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อเตรียมการแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะกรรมการระดับอำเภอและคณะกรรมการระดับจังหวัด ในการเปิดการรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

โดยให้เริ่มรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วันแต่ไม่เกิน 7 วัน

บัตรลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2567 ระดับอำเภอ

วันเลือกในระดับอำเภอ 

  • ต้องไม่เกิน 20 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร 

วันเลือกในระดับจังหวัด

  • ต้องไม่เกิน 7 วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ 

 

บัตรลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2567 ระดับจังหวัด วันเลือกในระดับประเทศ

  • ต้องไม่เกิน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด 

ทั้งนี้ การกำหนดวันเลือกในแต่ละระดับต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

บัตรลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2567 ระดับประเทศ

สำหรับการแบ่งกลุ่มที่สมัครรับเลือกสว. จำนวน 20 กลุ่ม ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ดังนี้

1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

3.กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

4.กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

7.กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน อื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาฯ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)

บัตรลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2567 ระดับประเทศ 11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

14.กลุ่มสตรี

15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

17.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

18.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

20.กลุ่มอื่น ๆ

ขั้นตอนการเลือกสมาชิกวุฒิ (สว.) 

เมื่อผู้สมัครผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติครบถ้วนจะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม

ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่มและในหนึ่งอำเภอโดยทุกกลุ่มจะเลือกกันเองเมื่อได้ตัวแทนระดับอำเภอก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัดแล้วไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ

ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของกลุ่ม ๆ นั้น ได้รับเลือกเป็น สว. จะได้ตัวแทนจาก 20 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คนเป็นตัวจริงที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นสว. 200 คน