สื่อเทศมองไทยหลัง “ทักษิณ” กลับจันทร์ส่องหล้า กล้าปล่อยวางอำนาจจริงหรือ

18 ก.พ. 2567 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2567 | 15:41 น.
989

“ทักษิณ ชินวัตร” เดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจกลับบ้านจันทร์ส่องหล้าแล้วในวันนี้ (18 ก.พ.) แม้จะเป็นความเคลื่อนไหวที่ตั้งใจให้เงียบและเรียบง่ายที่สุด แต่กลับได้รับความสนใจจากกองทัพสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ที่มาปักหลักข้ามคืนเพื่อรายงานข่าว   

 

หนึ่งใน สื่อต่างประเทศ คือ สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ในที่สุด “ทักษิณ ชินวัตร” มหาเศรษฐี อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้ลิ้มรสชาติแห่งอิสรภาพในวันนี้ (18 ก.พ.) เป็นวันแรก หลังจากที่ต้องระหกระเหินอยู่ในต่างแดนถึง 15 ปีและกลับมารับโทษอยู่เป็นเวลาถึง 6 เดือนนับจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้วก่อนจะได้รับ การพักโทษ แม้ส่วนใหญ่เขาจะใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลก็ตาม

การออกจากโรงพยาบาลที่ตั้งใจให้เป็นไปอย่างเงียบๆเรียบๆเช้าวันนี้ กลับได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากสื่อในประเทศและสื่อทั่วโลกที่ไปปักหลักทำข่าวตั้งแต่คืนวาน ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามมองว่า ทักษิณได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษแบบวีไอพี รอยเตอร์ระบุว่า ทักษิณ ชินวัตร คือนายกรัฐมนตรีที่โด่งดังที่สุดและได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุดกระทั่งเกิดการแบ่งฝักฝ่ายอย่างชัดเจน เขาคือนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลแม้ขณะลี้ภัยหนีคดีใช้อำนาจในทางมิชอบอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลามากกว่าสิบปี

ปัจจุบัน ทักษิณอายุ 74 ปี พรรคการเมืองที่เขาก่อตั้งขึ้นมาขณะนี้ก็เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เขาได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปีเหลือ 1 ปี และวันนี้เขาได้รับการพักโทษโดยไม่ต้องใช้เวลาในคุกแม้แต่วันเดียว เพราะนับตั้งแต่กลับถึงไทยและและถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานไม่ถึง 24 ชั่วโมงเขาก็ถูกเคลื่อนย้ายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตำรวจ นับจากวันนั้นกระทั่งถึงวันที่ออกจากโรงพยาบาล (23 ส.ค.2566 ถึง 18 ก.พ.2567)

ทักษิณ ชินวัตร ออกจากโรงพยาบาลเช้าวันนี้ (18 ก.พ.) ในชุดเสื้อเชิ้ตแขนสั้นลายตาราง และกางเกงขาสั้น

สื่อต่างประเทศจากตะวันออกกลาง อัลจาซีรา ให้ภาพรายละเอียดว่า ทักษิณออกจากโรงพยาบาลในชุดเสื้อเชิ้ตลายตาราง กางเกงขาสั้น สวมหน้ากากอนามัย มีเฝือกอ่อนสวมคอ และแขนคล้องสลิง (ผ้าคล้องแขนทางการแพทย์) นั่งเคียงคู่ในรถยนต์ส่วนตัวกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทั้งคู่เดินทางถึงบ้านพักโดยใช้เวลาราว 25 นาที

การกลับมารับโทษและอิสรภาพของเขาในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย โดยพรรคเพื่อไทยได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งและแคนดิเดตของพรรคก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ท่ามกลางข่าวลือที่ว่ามีการเจรจาลับระหว่างทักษิณและฝ่ายกองทัพเพื่อจัดเตรียมการกลับมาของเขา แต่เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นข่าวลือที่ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด

เขี่ยฟืน-กระพือไฟขัดแย้งปะทุอีกรอบ

รอยเตอร์ระบุว่า ฝ่ายตรงข้ามตั้งคำถามเกี่ยวกับความคลุมเครือ ทั้งเรื่องสุขภาพ อาการเจ็บป่วยของทักษิณ รวมทั้งการรับโทษที่ดูจะเบาบางมาก สว.สมชาย แสวงการ โพสต์บนสื่อโซเชียลมีเดียวันนี้ เป็นภาพนายทักษิณออกจากโรงพยาบาลกลับบ้านพร้อมแฮชแท็ก #ทักษิณ ป่วยหนัก? พักโทษ? โรคอะไร? #RIPยุติธรรมไทย

ขณะที่ พรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายแต่กลับกลายมาเป็นฝ่ายค้าน ระบุว่า ในอดีต นายทักษิณอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมมาก่อน แต่การคืนความยุติธรรมให้เขาในวันนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องทำแบบสองมาตรฐาน หรือให้สิทธิพิเศษเหนือกฎหมาย

ด้าน เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่มาปักหลักติดตามสถานการณ์อยู่หน้าโรงพยาบาลตำรวจได้ประณามรัฐบาลและนายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจพร้อมระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ควรทำให้บุคคลเหล่านี้ต้องไปติดคุกแทนนายทักษิณ

การมอบอิสรภาพคืนแก่ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่เรื่องเกินคาด ตอนนี้จุดสนใจพุ่งไปอยู่ที่ว่า เขาจะทำตามคำพูดที่เคยกล่าวไว้หรือไม่ ว่าอยากจะวางมือจากการงานทางการเมือง เขาจะยับยั้งชั่งใจไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และไม่ใช้อำนาจบารมีที่ยังคงมีอยู่ครอบงำรัฐบาลที่มีพรรคของเขาและพวกพ้องของเขาเป็นแกนนำได้จริงๆหรือไม่

ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับรอยเตอร์โดยแสดงความเชื่อว่า นายทักษิณยังจะมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และตอนนี้เมื่อได้รับการพักโทษออกมาแล้ว ก็อยู่ที่ว่าเขาจะใช้อำนาจนั้นมากน้อยแค่ไหน วิธีการแสดงความเห็นและการตัดสินใจของเขาจะแตกต่างไปจากเดิม เชื่อว่าทักษิณเองก็มี “ข้อตกลง” บางอย่างที่ต้องทำตามเหมือนกัน และหากบิดพลิ้วไปจากนั้นก็อาจจะมีปัญหาตามมาได้  

ด้าน บีบีซี สื่อใหญ่จากอังกฤษ รายงานข่าวว่า คดีของทักษิณก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมไทยที่มักจะมีคำพูดว่าคนรวยและคนมีอำนาจมักจะได้รับอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไปอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีระบอบประชาธิปไตยที่มีการนำอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการมาใช้กับทุกๆคนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานกับพวกอภิสิทธิ์ชน

“เราไม่ควรใช้วิธีการที่ไปตอกย้ำกระบวนการยุติธรรมที่สองมาตรฐาน การปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน เราอาจจะเรียกว่าเป็นระบบนิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชน เพราะสุดท้ายก็ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ คนที่ควรจะได้รับการอำนวยความยุติธรรม ควรจะมีแค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือควรจะเป็นคนทุกกลุ่ม” หัวหน้าพรรคก้าวไกลย้ำว่า นี่คือหลักการที่ทางพรรรคให้ความสำคัญ