ศาลอาญายกฟ้อง “ทุน มิน หลัด-ลูกเขยสว.อุปกิต”คดีค้ายา-องค์กรอาชญากรรม

30 ม.ค. 2567 | 17:09 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2567 | 17:23 น.

ศาลอาญายกฟ้อง "ทุน มิน หลัด" นักธุรกิจชาวเมียนมา และ ลูกเขย "สว.อุปกิต ปาจรียางกูร" พร้อมพวก คดีฐานร่วมกันสนับสนุนกันกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด - องค์กรอาชญากรรม

วันนี้ (30 ม.ค. 67) ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีดำ ย1249/2565 ที่พนักงานอัยการคดียาเสพติด 9 เป็นโจทก์ฟ้อง นายทุน มินหลัด (Mr.TUN MIN LATT) นักธุรกิจชาวเมียนมา จำเลยที่ 1, นายดีน ยัง จุลธุระ จำเลยที่ 2, น.ส.น้ำหอม จำเลยที่ 3, น.ส.ปิยะดา จำเลยที่ 4  และจำเลยที่ 5 บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด โดยนายทุน มิน หลัด และ น.ส.น้ำหอม ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจที่ 5 ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันสนับสนุนกันกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง องค์กรอาชญากรรม

คดีนี้ อัยการโจทก์ ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 22 ก.พ. 2562 ถึงวันที่ 10 พ.ค. 2562 จำเลยทั้ง 5 กับพวกที่ยังหลบหนี และจำเลยบางส่วนที่ศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษาไปแล้ว ได้บังอาจร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยตกลงวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำ ในการจัดหายาเสพติดประเภท 1 (ยาบ้า)


โดยพวกจำเลยทำหน้าที่ดูแลรับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงินซื้อขายค่ายาเสพติด เข้าบัญชีของบริษัทฯ จำเลยที่ 5 โดยอ้างว่า เพื่อไปชำระค่าไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.แม่สาย.จ.เชียงราย ลักษณะปกปิด อำพราง ซึ่งการได้มาของเงินจำนวนดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด

โดยบริษัทฯ จำเลยที่ 5 มีหน้าที่นำเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด เปลี่ยนสภาพเป็นสินค้าประเภทกระแสไฟฟ้า ส่งออกไปประเทศเมียนมา ซึ่งพวกจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี
 

วันนี้ ศาลสั่ เบิกตัวจำเลยทั้งหมดจากเรือนจำมาฟังคำพิพากษา โดยมีครอบครัวญาติและเพื่อนมาร่วมฟังคำพิพากษาและร่วมให้กำลังใจ

พิเคราะห์พยานหลักฐาน เกี่ยวกับเส้นทางการเงินของกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดจำนวน 6 กลุ่ม ที่ก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำพิพากษาว่า มีความผิด ส่วนเส้นทางการเงินของเครือข่ายยาเสพติดทั้ง 6 กลุ่ม มีบางส่วนที่เชื่อมโยงมาที่ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามแนวชายแดน ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจ ในเครืออัลลัวร์กรุ๊ป ก็ใช้บริการ ร้านแลกเปลี่ยนเงินตราร้านเดียวกัน เพราะมีความน่าเชื่อถือ และทางสถานทูต มีการตรวจสอบแล้วพบว่า ได้รับอนุญาตถูกต้อง จากหน่วยงานภาครัฐของทางเมียนมา

ทั้งนี้จากการนำสืบของพยานโจทก์ ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดทั้ง 6 กลุ่ม ให้การยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักกับจำเลยทั้ง 5 มาก่อน และในขณะจับกุมกลุ่มเครือข่ายยาเสพติด จำเลยทั้ง 5 ก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย

เมื่อพิจารณา จากคำเบิกความของพยานบุคคล จากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่มาเบิกความต่อศาล สอดคล้องต้องกันว่า เป็นลูกค้าที่มาใช้บริการโอนเงิน เพื่อชำระค่าสินค้าที่ซื้อไป บางรายใช้วิธีการโอนเงินมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นช่วงสถานการณ์โควิด ที่ชายแดนปิดไม่สามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้

เชื่อว่าร้านแลกเปลี่ยนเงินตรา มีผู้มาใช้บริการถึง 500 บัญชี และมี 22 บัญชีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่มาใช้บริการร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราด้วย ซึ่งตัวแทนบริษัทเมียนมา อัลลัวร์ กรุ๊ป ก็ใช้บริการบัญชีเงินฝากร้านแลกเปลี่ยนเงินตราเดียวกันนี้ด้วย

แม้ในช่วงที่จำเลยที่ 1-4 ถูกจับกุม ทางบริษัทของกลุ่มจำเลย ก็ยังใช้วิธีการชำระเงินแบบเดิม ซึ่งผิดปกติวิสัยว่าหากถูกจับกุม ในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแล้วจะใช้วิธีการเดิมในการชำระเงิน

ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกเขยของ นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ถูกเชิดให้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทอันลัวร์กรุ๊ป ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งเป็น ส.ว. เพื่อให้ไม่ต้องโดนตรวจสอบ เป็นเพราะความมักง่ายในการทำธุรกิจไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลปกปิด เพราะเป็น ส.ว.หลีกเลี่ยงการตรวจสอบเกี่ยวกับการทำธุรกิจ แต่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

พิเคราะห์แล้วไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 5 ร่วมกันทำผิดเกี่ยวกับการสมคบค้ายาเสพติด และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พยานหลักฐานของจำเลยสามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ทั้งหมด พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง กลุ่มญาติของจำเลยที่มาร่วมฟังคำพิพากษา ต่างลุกขึ้นปรบมือส่งเสียงเฮดังลั่นห้องพิจารณาคดี และ ร้องไห้ เข้าสวมกอดกับจำเลยด้วยความดีใจ

ด้าน นายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี ทนายความ นายดีน ยัง จุลธุระ จำเลยที่ 2 ลูกเขยของนายอุปกิต และ ทนายความของ นายอุปกิต ปาจรียางกูร เปิดเผยว่า คดีนี้เส้นทางการเงินกระจายไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะบริษัท เมียนมาอัลลัวร์ แต่โจกท์ฟ้องเฉพาะจำเลย จึงหักล้างว่านิติบุคคลอื่น ที่มีเส้นทางการเงินคล้ายกับเรา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ถ้าเราเกี่ยวข้อง นิติบุคคลอื่นก็ต้องเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็น คาราบาว เอสซีจี โรงเรียนนานาชาติ ก็จะต้องเกี่ยวด้วย เพราะรับเงินจากร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราที่ดียวกัน ที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ศาลพิจารณาโดยมีรายละเอียดขัอเท็จจริง มีเหตุผลอย่างละเอียดมากๆ คำพิพากษานี้จะเป็นตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะจับกุมใคร ต้องดูให้ละเอียดก่อนออกหมายจับ เพราะศาลพูดออกมาเลยว่า หละหลวมมาก ซึ่งคดีนี้มีโทษถึงประหารชีวิต ดีที่เราสู้คดีไม่ได้รับสารภาพ ลองคิดดูหากพลาดจะเป็นอย่างไร

ในส่วนของ ส.ว.อุปกิต ตนจะต้องใช้คำพิพากษานี้ ถึงแม้จะยังไม่ถึงที่สิ้นสุดไปประกอบในสำนวน เนื่องจากข้อเท็จจริงเหมือนกันหมด ทั้งพยานบุคคลและพยานหลักฐาน ซึ่งในคำพิพากษาคดีนี้ก็มีชื่อ นายอุปกิต ด้วย ก็สามารถนำไปอ้างอิงได้ ส่วนจะเป็นประโยชน์หรือไม่ตนไม่ทราบ แต่จำเป็นต้องใช้แน่นอน

ส่วนเรื่องที่จะขอให้อัยการสูงสุดถอนฟ้องคงยาก เนื่องจากคดีฟ้องมาแล้ว จะสู้กันในศาลให้ถึงที่สุด โดยคดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่าง การที่จำเลยในคดีนี้ต้องติดคุกถึง 1 ปีครึ่ง ไม่ได้ประโยชน์ จำเลยที่ 2 ทำงานบริษัทได้เงินเดือน 3.4 แสนบาท แต่ต้องโดนออกจากงาน ใครจะรับผิดชอบ

เมื่อถามว่าศาลอ่านพฤติการณ์การอำพรางการเป็นเจ้าของธุรกิจของ นายอุปกิต จะกระทบต่อตำแหน่ง ส.ว.หรือไม่ นายเรืองศักดิ์ ชี้แจงว่า เป็นเรื่องของวุฒิสมาชิก ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ตนมองว่า นายอุปกิต คงไม่ได้ปกปิด คดีนี้ยังมีอุทธรณ์ฎีกาอยู่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส ) มีการแถลงข่าวยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ โดยกลุ่มอัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) 4 คน ซึ่งมี นายทุน มิน หลัด นักธุรกิจชาวเมียนมา เป็นผู้ต้องหารายสำคัญ ยึดรถหรู นาฬิกา และกระเป๋าแบรนด์เนม มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท เงินสดในตู้นิรภัยอีก 8 ล้านบาท