พลิกปูมแทคติกซุกหุ้นทักษิณ ก่อน “ศักดิ์สยาม” พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี

19 ม.ค. 2567 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2567 | 09:28 น.

พลิกปูมคดี ซุกหุ้น ภาค 1-2 แทคติกทักษิณ โอนลอย - ตั้งคนใกล้ชิดเป็น นอมินี พร่องถ่ายสินทรัพย์เสี่ยงให้เครือญาติ

KEY

POINTS

  • พลิกปูมคดี ซุกหุ้น ภาค 1-2 ในตำนาน ต้นกำเนิดวลีเด็ดตลอดกาล "บกพร่องโดยสุจริต" 
  • ย้อนรอยแทคติกทักษิณ โอนลอย - โอนไขว้เครือญาติ ตั้งคนใกล้ชิด คนขับรถ-คนใช้-แม่บ้าน เป็น นอมินี หลบโชว์บัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.  
  • เปิดพิรุธ-ศาลรัฐธรรมนูญจับโป๊ะ คดีศักดิ์สยาม ซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ก่อนกระเด็นตกเก้าอี้รัฐมนตรี-ลามบริจาคเงินภูมิใจไทย   

มติ 7 ต่อ 1 ของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วน-เป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตัคชั่น ย้อนหลังนับตั้งแต่ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” วันที่ 3 มีนาคม 2566 

โดย “ศักดิ์สยาม” เป็นคนที่มี “อำนาจเต็ม” ทั้ง 2 บริษัท คือ หจก.บุรีเจริญ ฯ และบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ 1991 จำกัด ทั้งก่อน-หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ประกาศใช้ และระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตั้งแต่เลือกตั้งปี 62 

จับพิรุธ โอนหุ้น หจก.บุรีเจริญ 

ปมเงื่อนที่ “ศักดิสยาม-ศุภวัฒน์” โดนศาลรัฐธรรมนูญ “จับพิรุธ” จาก “เส้นทางการเงิน” โดยสาวจาก “ปลายทาง” ไปถึง “ต้นทาง” การโอนเงินชำระค่าหุ้น จำนวน 3 งวด จำนวน 119.5 ล้านบาท จนพบว่าสุดท้ายเงินเป็นของ “ศักดิ์สยาม” ทั้งหมด

“งวดแรก” วันที่ 2 สิงหาคม 2560 นายศุภวัฒน์โอนเงินให้นายศักดิ์สยามเพื่อชำระค่าหุ้น จำนวน 35 ล้านบาท  โดยเป็นเงินจากการขายกองทุน TMB บีเอส-ทีพลัส จำนวน 38.4 ล้านบาท วันที่ 1 สิงหาคม 2560 

เงินบางส่วนมาจากการสับเปลี่ยนเงินกองทุนทีเอ็มบีที ทีเอสดี พลัส จำนวน 21.085 ล้านบาท และมาจากการซื้อกองทุนด้วยเงินสด เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 จำนวน 23 ล้านบาท

งวดที่สอง วันที่ 5 กันยายน 2560 นายศุภวัฒน์ โอนเงินให้นายศักดิ์สยาม จำนวน 35 ล้านบาท โดยเงินมาจากการขายกองทุน TMB ทีเอส-ไอพลัส วันที่ 4 กันยายน 2560 จำนวน 20 ล้านบาท และจากการขายเงินกองทุน TMB อีเอส ดีพลัส 15 ล้าน

โดยแหล่งที่มาของเงินทั้งสองส่วนจากการซื้อกองทุนฯ โดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารของนายศุภวัฒน์ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.60 แบ่งออกเป็น กองทุน 20 ล้านบาท และ 15 ล้านบาท 

จากการตรวจสอบธนาคารทหารไทยธนชาติ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย “สำเนาเคลื่อนไหวบัญชีธนาคาร” ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ของนายศุภวัฒน์ นายศักดิ์สยาม และบริษัท ศิลาชัย ฯ พบว่า

เงินที่นำมาซื้อกองทุนฯดังกล่าว นายศุภวัฒน์ ได้รับโอนมาจากบัญชีธนาคารของบริษัท ศิลาชัย ฯ จำนวน 35 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 ส.ค.60 เวลา 15.44 น. โดยโอนออกจากบัญชีบริษัท ศิลาชัย ฯ ในวันดังกล่าว เวลา 15.42 น. 

และปรากฏว่าวันเดียวกับ บริษัท ศิลาชัยฯ ได้รับโอนมาจากบัญชีของนายศักดิ์สยาม จำนวน 40 ล้านบาท เวลา 15.40 น. โดยโอนออกจากบัญชีนายศักดิ์สยามในวันเดียวกัน เวลา 15.36 น.

อ้างคืนเงินกู้ บ.ศิลาชัยฯ ย้อนหลัง 

โดยนายศักดิ์สยามอ้างว่าเป็นการคืนเงินกู้ยืมให้กับบริษัท ศิลาชัย ฯ ฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558 จำนวน 40 ล้านบาท เพื่อไปเพิ่มทุน หจก.บุรีเจริญฯ

แต่จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การเพิ่มทุนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558

นายศักดิ์สยามจึงเบิกความว่า เป็นการทำสัญญา “กู้เงินย้อนหลัง” ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ

งวดที่สาม วันที่ 5 มกราคม 2561 จำนวน 49.5 ล้านบาท มาจากการขายกองทุน TMB-T-ES-IPlus  ของนายศุภวัฒน์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 จำนวน 46.5 ล้านบาท โดยเงินส่วนหนึ่งมาจากการซื้อกองทุน TMB-T-ES-DPlus เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 จำนวน 56.7 ล้านบาท 

จากการตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอีสต์สปริงส์ประเทศไทย จำกัด พบว่าเงินที่นำมาซื้อกองทุนฯดังกล่าว นายศุภวัฒน์ได้รับโอนมาจากบัญชีบริษัท ศิลาชัย ฯ จำนวน 36.7  ล้านบาท และมาจาก หจก.บุรีเจริญ ฯ อีกจำนวน 20 ล้านบาท โดยมีนายศักดิ์สยามเป็นผู้นำฝากเงินเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2561

ไม่พบเอกสารฉบับใดที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่านายศุภวัฒน์  เป็นผู้ชำระเงินให้กับผู้ค้าต่างๆของบริษัท ศิลาชัย ฯ

อีกทั้งเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏหลักฐานใบสำคัญจ่ายเงิน ใบรับวางบิล มีเพียงเอกสารสรุปรายการผู้รับจ้าง และรายการการชั่งน้ำหนักหินของโรงโม่หิน ซึ่งเป็นเอกสารที่จะทำขึ้นภายในบริษัทเท่านั้น

หจก.บุรีเจริญ กำไรงาม 

ในส่วนของการชำระเงินสำรองจ่ายของ หจก.บุรีเจริญฯ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.60 จำนวน 20 ล้านบาท

แม้ผู้ถูกร้อง นายศุภวัฒน์เบิกความว่า ในช่วงปี 2558-2559 หจก.บุรีเจริญ ฯ ได้รับผลกระทบจากการทุจริตของพนักงานเช่นเดียวกับบริษัท ศิลาชัย ฯ เป็นเหตุให้นายศุภวัฒน์ เข้ามาสำรองค่าใช้จ่ายต่างๆ  
แต่จากสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรากฏยอดความเสียหายเพียง 1.127 ล้านบาทเท่านั้น และไม่ปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ว่า หจก.บุรีเจริญ ฯ เกิดการทุจริต

อีกทั้งเอกสารงบการเงินของ หจก.บุรีเจริญ ฯ ระหว่างปี 2558-2562  ผลประกอบกิจการ มีผลกำไรโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ไม่เคยประสบภาวะขาดทุนหรือขาดสภาพคล่องทางการเงิน

สัญญา “กู้ลม”  

ส่วนการโอนเงินจำนวน 35 ล้านบาทให้กับนายศุภวัฒน์ ในวันและเวลาที่ใกล้เคียงกับที่บริษัท ศิลาชัย ฯ รับโอนเงินมาจากนายศักดิ์สยามจำนวน 40 ล้านบาท 

การโอนเงินดังกล่าวเป็นกรณีที่บริษัท ศิลาชัย ฯ คืนเงินสำรองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ อะไหล่ เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ตลอดจนการจัดเตรียมหินเข้ากระบวนการผลิตของโรงโม่ในรอบปี 2560 ให้แก่นายศุภวัฒน์

โดยนายศุภวัฒน์ จะทยอยส่งมอบเงินสด และเงินสดหมุนเวียนให้กับบริษัท ศิลาชัย ฯ เป็นระยะ ต่อมาบริษัทไม่สามารถนำเงินมาชำระคืนแก่นายศุภวัฒน์ได้ จึงเป็นที่มาของการทำสัญญากู้ยืมเงิน 8 ครั้ง 

โดยเป็นการรวมยอดเงินสำรองจ่าย และการกู้ยืมเงินสดหมุนเวียน โดยในปี 2559 จำนวน 3 สัญญา ในปี 2561 จำนวน 3 สัญญา ในปี 2563 จำนวน 1 สัญญา ในปี 2564 จำนวน 1 สัญญา รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 345.5 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการของบริษัท ศิลาชัย ฯ ตามที่ปรากฏในงบการเงินระหว่างปี 2558 -2562  พบว่า ส่วนมากการประกอบกิจการของบริษัทมีผลกำไร อีกทั้งปี 2558-2560 ได้ให้นายศักดิ์สยามยืมเงิน 3 ครั้งรวมเป็นเงินกว่า 128 ล้านบาท

เสี่ยโอ๋ อำนาจเต็ม 

แม้เงินที่นายศุภวัฒน์ นำมาซื้อกองทุนรายการต่างๆดังกล่าวมิได้โอนมาจากบัญชีธนาคารของนายศักดิ์สยามโดยตรง

แต่มาจากบัญชีธนาคารของบริษัท ศิลาชัย ฯ และ หจก.บุรีเจริญ ฯ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว นายศักดิ์สยามอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจในการใช้จ่ายเงินของนิติบุคคลทั้ง 2 แห่ง

โดยหากพิจารณาประกอบคำเบิกความของนายศักดิ์สยามกรณีที่บริษัท ศิลาชัย ฯ  จำกัดจัดซื้อเครื่องบินส่วนบุคคล รุ่น เซอร์รัส SR22 T ราคา 12 ล้านบาทในปี 2560 

แม้บริษัทจะขาดสภาพคล่องตามที่กล่าวอ้าง แต่นายศักดิ์สยามก็ใช้อำนาจในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตน

นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงอำนาจในการใช้จ่ายเงินของนิติบุคคลที่อยู่ในอำนาจของนายศักดิ์สยาม

นอมินี รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี 

แม้จะปรากฏเอกสารว่า ครอบครัวของนายศุภวัฒน์ขายที่ดินเมื่อปี2557  ได้มาถึง 129ล้านบาทก็ตาม แต่การขายที่ดินประกอบกับรายการทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจำนวนมากของนายศุภวัฒน์ในช่วงเวลาเดียวกัน 

และการที่นายศุภวัฒน์กล่าวอ้างว่า มีรายได้จากการประกอบอาชีพรับจ้างจัดหาเครื่องจักร อะไหล่ และซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้กับบริษัทศิลาชัย ฯ และ หจก.บุรีเจริญ ฯ รวมทั้งรับจ้างตักหินให้โรงโม่หินของบริษัท ศิลาชัยฯ ตั้งแต่ปี 2538 และมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 20 ล้านบาทนั้น

จากเอกสารการแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายศุภวัฒน์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างปี 2556-2565 นายศุภวัฒน์มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี 

สนง.ใหญ่ บ้านพักศักดิ์สยาม - บิลน้ำมัน “ติดตามนาย” 

ปรากฏว่า ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของ หจก.บุรีเจริญฯเปลี่ยนแปลงจากบ้านเลขที่ 30/2 ต.อีสาน อ.เมืองบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่อยู่เดียวกับบ้านพักของนายศักดิ์สยาม เป็นบ้านเลขที่ 30/17 เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.62 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่นายศักดิ์สยามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน โดยสถานทั้งสองแห่งตั้งยู่ในบริเวณเดียวกัน  

ทั้งไม่ได้กำหนดให้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้นายศุภวัฒน์ดังเช่นนายศักดิ์สยามได้กระทำเมื่อครั้งยังเป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการ

แต่หากเมื่อใดที่นายศุภวัฒน์ต้องการนำเงินของ หจก.บุรีเจริญฯมาใช้ส่วนตัวจะต้องรวบรวมใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันมาตั้งเบิก เพื่อบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อรับเงินสดในแต่ละเดือน 

แต่จากการตรวจสอบในเบิกค่าน้ำมันภายหลังที่ผู้ถูกร้องโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์แล้ว ปรากฏใบเสร็จค่าน้ำมันจำนวน 19 รายการ ที่ระบุเลขทะเบียนของนายศักดิ์สยาม 2 คัน เป็นการระบุว่า “ติดตามนาย” 

โผล่บริจาคเงินภูมิใจไทย

การบริจาคเงินของนายศุภวัฒน์ ให้กับพรรคภูมิใจไทยในระหว่างที่นายศักดิ์สยามเป็นเลขาธิการพรรค จากเอกสารของพรรคภูมิใจไทย ปรากฏว่า นายศุภวัฒน์บริจาคเงิน หรือ ทรัพย์สินประโยชน์อื่นให้พรรคในนามส่วนตัว มูลค่า 2.27 ล้านบาท 

และในปี 62 บริจาคในนาม หจก.บุรีเจริญฯ 4.8 ล้านบาท และ 6 ล้านในปี 65 เป็นช่วงเวลาภายหลังนายศักดิ์สยามโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์ ในปี 61 

ไม่ปรากฏว่าช่วงเวลาก่อนโอนหุ้นนายศุภวัฒน์ และ หจก.บุรีเจริญฯ เคยบริจาคเงิน ทรัพย์สินให้แก้พรรคภูมิใจไทย หรือ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ใดๆกับพรรคมาก่อน 

จากข้อพิรุธหลายประการจึงฟังได้ว่า นายศักดิ์สยาม กับ นายศุภวัฒน์ตกลงนำเงินของนายศักดิ์สยามทำธุรกรรมต่างๆ ในนามของนายศุภวัฒน์ 

โดยขั้นตอนสุดท้ายมีการนำเงินนั้นซื้อกองทุน TMB-T-ES-DPlus และกองทุนTMB-T-ES-IPlus ชื่อนายศุภวัฒน์ แล้วขายกองทุนดังกล่าวเพื่อซื้อหุ้นกับนายศักดิ์สยามเงินจำนวน 19.5 ล้านบาท ยังเป็นของนายศักดิ์สยาม 

พลิกปูมคดีซุกหุ้นภาคแรก

หาก “พลิกปูม” คดีซุกหุ้นในตำนาน “คดีซุกหุ้นภาคแรก” คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ “จงใจ” ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ 

ในสำนวนปรากฏนายทักษิณไม่แสดงรายการทรัพย์สินซึ่งเป็นหุ้นที่ใช้ชื่อผู้อื่นถือแทน

ครั้งที่ 1 กรณีเข้ารับตำแหน่ง 2,371.726 ล้านบาท ครั้งที่ 2 กรณีพ้นจากตำแหน่ง 1,523.157 ล้านบาท และครั้งที่ 3 กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วหนึ่งปี 646.984 ล้านบาท

นายทักษิณให้ “ผู้ใกล้ชิด” ถือหุ้นแทน  โดย “เลขานุการส่วนตัว” ของนางพจมาน จะนำเอกสารต่าง ๆ มาให้ลงลายมือชื่อ หลังจากนางพจมานบอกให้รู้ก่อนล่วงหน้า 1 สัปดาห์ 

การ “โอนหุ้น” ระหว่างนายทักษิณไปยัง “คนใกล้ชิด” ในตระกูลชินวัตร 10 คน ทั้ง แม่ครัว-แม่นม-คนรับใช้-คนขับรถ-ยามรักษาความปลอดภัย เป็นผู้ถือหุ้นแทน โดยการ “โอนลอย” ให้นางพจมานเป็นผู้มีสิทธิขาด เป็นการถือหุ้นแทนนางพจมาน 

ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากมีมติ 8 ต่อ 7 ว่า นายทักษิณไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาตรา 295 ให้ยกคำร้อง จนเป็นที่มาของวลีเด็ดตลอดกาลในตำนานว่า “บกพร่องโดยสุจริต” 

ซุกหุ้นภาคสอง-ผลประโยชน์ทับซ้อน 

คดีซุกหุ้นภาคสอง นายทักษิณถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,419 ล้านหุ้น โดยให้ “คนในครอบครัวชินวัตร” เป็นผู้ถือหุ้นแทนระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  

พฤติการณ์การ “ซุกหุ้น” บัญชีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ชินคอร์ป ณ วันที่ 10 เมษายน 2541 ระุบุ นายทักษิณ ถือหุ้น 32.920 ล้านหุ้น

นางพจมาน จำนวน 34.650 ล้านหุ้น และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 6.847 ล้านหุ้น (ได้รับโอนหุ้นจากคนใกล้ชิดในคดีซุกหุ้นภาคแรก)  

ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 บริษัท ชินคอร์ป ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน หลังจากบริษัท ชินคอร์ป เพิ่มทุนแล้ว นายทักษิณ ถือหุ้น จำนวน 65.840 ล้านหุ้น นางพจมาน จำนวน 69.3 ล้านหุ้น และ นายบรรณพจน์ จำนวน 13.618 ล้านหุ้น โดยนางพจมานเป็นผู้ชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้นายบรรณพจน์ 

วันที่ 11 มิถุนายน 2542 นายทักษิณโอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 32.920 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาทให้กับบริษัท แอมเพิลริช โดยนางพจมานเป็นผู้ชำระค่าซื้อหุ้น  

ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2543 นายทักษิณ และนางพจมาน โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ทั้งหมด ให้แก่ผู้ซื้อโดยตรง โดยนายทักษิณขายให้แก่ นายพานทองแท้ จำนวน 30.920 ล้านหุ้น และน.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 2 ล้านหุ้น 

ส่วนนางพจมาน ขายให้แก่ นายพานทองแท้ จำนวน 42.475 ล้านหุ้น และนายบรรณพจน์ จำนวน 26.825 ล้านหุ้น โดยผู้ซื้อทั้ง 3 รายดังกล่าว ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระค่าซื้อหุ้น มีกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถาม โดยไม่มีดอกเบี้ย

เมื่อได้รับเงินปันผลรอบแรกเดือนพฤษภาคม 2546 น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบรรณพจน์ เริ่มชำระเงินตามตั๋วสัญญาให้เงินแก่นายทักษิณและนางพจมาน 

พฤติการณ์จากคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลฎีกาฯนักการเมือง คดีซุกหุ้น 1 ยกฟ้อง - คดีซุกหุ้น 2 มีความผิด

โอนหุ้นไขว้เครือญาติ-คนใกล้ชิด

วันที่ 24 สิงหาคม 2544 บริษัท ชินคอร์ป เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นจากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท เป็นผลให้ผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า

โดยบัญชีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ชินคอร์ป ณ วันัที่ 22 ตุลาคม 2544 นายพานทองแท้ ถือหุ้น จำนวน 733.950 ล้านหุ้น นายบรรณพจน์ จำนวน 404.430 ล้านหุ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 20 ล้านหุ้น และบริษัท แอมเพิลริช จำนวน 229.2 ล้านหุ้น

ต่อมานายพานทองแท้เหลือหุ้น 293.950 ล้านหุ้น หลังโอนขายหุ้นบางส่วนให้ น.ส.พินทองทา โดยตรง 2 ครั้ง รวมจำนวน 440 ล้านหุ้น   ครั้งแรก วันที่ 9 กันยายน 2545 จำนวน 367 ล้านหุ้น 

โดยนางพจมาน ซึ่งเป็นมารดาน.ส.พินทองทา น้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายพานทองแท้ เป็นผู้ชำระค่าซื้อหุ้นให้น.ส.พินทองทา

ครั้งที่สอง วันที่ 17 พฤษภาคม 2546 จำนวน 73 ล้านหุ้น  โดย น.ส.พินทองทาใช้เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท ชินคอร์ป มาชำระค่าหุ้นให้แก่ นายพานทองแท้ 

นอกจากนี้สำนวนไต่สวนของ คตส.ระบุว่า น.ส.พินทองทา นำเงินปันผลที่ได้รับ จำนวน 485.829 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นบริษัท อสังหาริมทรัพย์ 5 บริษัท คืนจากบริษัท วินมาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นหุ้นที่นายทักษิณและนางพจมานขายให้ไปก่อนหน้านี้

สำหรับนายพานทองแท้ เมื่อได้รับเงินปันผลจากบริษัท ชินคอร์ป ได้ทยอยโอนเงินเข้าบัญชีนางพจมาน จนถึงเดือนมกราคม 2549 

ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับเงินปันผลรวม 6 งวด จำนวน 97.2 ล้านบาท ได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่นายทักษิณรวมเป็นเงิน 22.5 ล้านบาท 

ตั๋วเงินทิพย์ ไม่มีดอกเบี้ย-ไม่ทวงถาม

แม้นายพานทองแท้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบรรณพจน์ ต่างออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระค่าหุ้นมีกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย แต่นายทักษิณและนางพจมานก็ไม่ได้ทวงถามแต่อย่างใด

จนกระทั่ง นายพานทองแท้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบรรณพจน์ ได้รับเงินปันผลหุ้นแล้วจึงมีการโอนเงินชำระคืนให้แก่นายทักษิณและนางพจมาน แต่จำนวนเงินที่โอนชำระคืนนั้น กลับไม่ตรงกับจำนวนเงินที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน 

วันที่ 20 มกราคม 2549 บริษัท แอมเพิลริช โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ทั้งหมดให้แก่ นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา โดยตรง คนละ 164.6 ล้านหุ้น

วันที่ 23 มกราคม 2549 นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบรรณพจน์ โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ทั้งหมดผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ 

โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ซื้อ รวมจำนวน 1,487.740 ล้านหุ้น ในราคา หุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงิน 73,075.2 ล้านบาท 

โดยจำนวนหุ้นที่ขายไปเป็นหุ้นที่รับโอนมาจากนายทักษิณ และนางพจมาน กับหุ้นเพิ่มทุน ที่นายบรรณพจน์ซื้อโดยใช้เงินของนางพจมาน ชำระค่าหุ้น และหุ้นที่นายพานทองแท้ กับน.ส.พินทองทา รับโอนมาจากบริษัท แอมเพิลริช รวมอยู่ด้วย จำนวน 1,419.490 ล้านหุ้น

หลังหักค่านายหน้าร้อยละ 0.25 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 แล้ว คงเหลือค่าหุ้นเป็นเงินสุทธิ 69,722.880 ล้านบาท 

ในช่วงเวลาที่นายทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (2544-2548) บริษัท แอมเพิลริช ได้โอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ป บางส่วนไปอยู่ในความครอบครองของบริษัท วินมาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของนายทักษิณและนางพจมาน

ทำให้จำนวนหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ของบริษัท แอมเพิลริช ตามบัญชีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ชินคอร์ป ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2544 ขาดจำนวนรับโอนมาจากนายทักษิณ 100 ล้านหุ้น 

และต่อมาบริษัท วินมาร์ค จำกัด ก็ได้โอนหุ้นดังกล่าวกลับคืนมาให้บริษัท แอมเพิลริช ทำให้มีหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 329.2 ล้านหุ้น ครบถ้วนตามจำนวนที่ได้รับโอนมาจากนายทักษิณ  

ซ่อนเงื่อนกฎหมายเอื้อชินคอร์ป 

ทักษิณ ในฐานะ “หัวหน้าครม.” ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมแปลงภาษีสรรพสามิตเป็นค่าสัมปทาน สำหรับกิจการโทรคมนาคม รวม 2 ฉบับ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชินคอร์ป 

โดยการอนุมัติออกประกาศกระทรวงการคลัง ลดอัตราภาษีและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ให้คู่สัญญาภาคเอกชนนำภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ชำระให้แก่กรมสรรพสามิตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวมาหักออกจากค่าสัมปทาที่ต้องชำระให้แก่หน่วยงานภาครัฐได้

เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชินคอร์ป ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท เอไอเอส และบริษัท ดีพีซี ในขณะนั้น ซึ่งเป็นคู่สัญญากับรัฐ จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย 

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) 

การกระทำของทักษิณเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 

โดยองค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี 

ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี รวมเป็นจำคุก 5 ปี