ย้อนไทม์ไลน์ "คดีซุกหุ้นบุรีเจริญ" เขย่า "ศักดิ์สยาม" ตกเก้าอี้รมต.

17 ม.ค. 2567 | 16:50 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2567 | 16:57 น.

ย้อนไทม์ไลน์ 10 เดือน 20 วัน กับคดี "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" อดีตรมว.คมนาคม ซุกหุ้นหจก.บุรีเจริญฯ-บริษัทรับเหมาก่อสร้างโครงการรัฐ ซึ่งล่าสุด "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีคำวินิจฉัยให้พ้นความเป็นรัฐมนตรี

KEY

POINTS

  • ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยคดีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี-เว้นวรรค 2 ปี หรือไม่ กรณีถือหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ บริษัทรับเหมาโครงการรัฐ 
  • ย้อนที่มาปฐมเหตุ พรรคฝ่ายค้าน-54 สส. ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เอฟเฟ็กต์จากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  
  • เปิดไทม์ไลน์ 10 เดือน 20 วัน นับจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง-คำสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ประชุมปรึกษาคดีมากว่า 48 ครั้ง จนนำมาสู่การออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในวันนี้ 

เปิดไทม์ไลน์ 10 เดือน 20 วัน คดีศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม ซุกหุ้น นอมินี หจก.บุรีเจริญฯ-บริษัทรับเหมาก่อสร้างโครงการรัฐ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน เว้นวรรคเก้าอี้รัฐมนตรี 2 ปีหรือไม่

ชัดเจนแล้วว่า 17 ม.ค. 67 "มติศาลรัฐธรรมนูญ" 7 ต่อ 1 อ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 8/2566 คดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82

ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187

สืบเนื่องจาก สส. จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกว่า ผู้ร้อง ว่า นายศักดิ์สยาม เรียกว่า ผู้ถูกร้อง ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตัคชั่นอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้นายศักดิ์สยามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน

เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย 

ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า นายศักดิ์สยามกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (8) ได้กำหนดว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง เพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 มาแล้วไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

สำหรับไทม์ไลน์ตั้งแต่ day one ที่พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนกระทั่งวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้ ได้ประชุมปรึกษาคดีเป็นระยะเวลา 10 เดือน 20 วัน

  • วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 พรรคฝ่ายค้านเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายนายศักดิ์สยาม 
  • วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุม สส.ลงมติไว้วางใจ 262 เสียง ไม่ไว้วางใจ 205 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ถือว่า มีมติไม่ไว้วางใจคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 477 คน  
  • วันที่ 25 มกราคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน ยื่นรายชื่อ สส.จำนวน 54 รายชื่อ ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ “ครั้งแรก”
  • วันที่ 31 มกราคม 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสื่อ ด่วนที่สุด ที่ สผ 0001/1096 ถึง นพ.ชลน่านกะบคณะ แจ้งว่า 

“ซึ่งไม่ใช่เหตุที่รัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวได้กำหนดไว้ อันจะทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวท่าน กับคณะ สามารถเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้โดยตรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม”

  • วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นพ.ชลน่านพร้อมคณะยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามเป็น “ครั้งที่สอง” 
  • วันที่ 3 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์มีคำสั่ง “รับคำร้อง” ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้นายศักดิ์สยามชี้แจง “แก้ข้อกล่าวหา” ภายใน 15 วัน และมีมติเอกฉันท์สั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี” จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย 
  • วันที่ 31 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เสร็จสิ้นแล้ว กรณีนายปกรณ์วุฒิ และสส. 47 คน ยื่นคำร้องกรณีนายศักดิ์สยามใช้อำนาจในตำแหน่งจัดทำหรือเห็นชอบโครงการหน่วยงานรัฐ โดยมีเจตนาพิเศษส่งผลทำให้หจก.บุรีเจริญฯ และบริษัทที่บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทยรับงานเป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคม เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง 
  • วันที่ 11 เมษายน 2566 นายศักดิ์สยามยื่นคำร้องลงวันที่ 10 เมษายน 2566 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี 
  • วันที่ 18 เมษายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องเนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณียังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอันเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เดิม 
  • วันที่ 14 มิถุนายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม
  • วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม
  • วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย 
  • วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำคำชี้แจงเป็นหนังสือตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด
  • วันที่ 13 กันยายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อ
  • วันที่ 20 กันยายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำคำชี้แจงและจัดส่งพยานหลักฐานต่อศาล
  • วันที่ 18 ตุลาคม 2566 เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาจึงให้รอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้ 
  • วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง วันที่ 3 มี.ค.66 ดำเนินกระบวนพิจารณาและรวบรวมพยานหลักฐานมาแล้ว 48 ครั้ง เห็นควรไต่สวนพยานบุคคลต่อไป และกำหนดวันไต่สวนพยานบุคคล 4 ปากในวันที่ 14 ธ.ค.66
  • วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 คดีอยู่ระหว่างคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐานและพยานบุคคลยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น จึงกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อวันที่ 29 พ.ย.66 
  • วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเตรียมการไต่สวนในวันที่ 14 ธ.ค.66
  • วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเตรียมการไต่สวนวันที่ 14 ธ.ค.66
  • วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยาน 6 ปาก คือ นางวราภรณ์ เทศเซ็น นายศักดิ์สยาม นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ น.ส.วรางสิริ ระกิติ น.ส.ฐิติมา เกลาพิมาย และนางอัญชลี ปรุดรัมย์ คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน และนัดฟังคำวินิจฉัยวันที่ 17 ม.ค.67  
  • วันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นที่พิจารณาวินิจฉัย กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติวันที่ 17 ม.ค.67 เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 14.00 น.
  • วันที่ 10 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและเพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ 
  • วันที่ 17 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย