มติวุฒิสภาไฟเขียว 5 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

15 ม.ค. 2567 | 17:09 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2567 | 17:14 น.

มติวุฒิสภา เห็นชอบ 5 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด “พรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์-วรวิทย์ สุขบุญ-เชิดชู รักตะบุตร-บุญเสริม นาคสาร-สมฤทธิ์ ไชยวงค์” ด้วยเสียงข้างมาก หลังพิจารณารายงานของ กมธ.ตรวจสอบประวัติแล้ว

วันนี้(15 ม.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานจากที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)  ถึงการลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง “ตุลาการศาลปกครองสูงสุด” จำนวน 5 คน โดย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้แจ้งผลการลงคะแนนลับ ว่า

นางพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ ได้รับเสียงเห็นชอบ 182 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง

นายวรวิทย์ สุขบุญ ได้รับเสียงเห็นชอบ 158 เสียง ไม่เห็นชอบ 22 เสียง ไม่ออกเสียง 9 เสียง

นายเชิดชู รักตะบุตร ได้รับเสียงเห็นชอบ 173 เสียง  ไม่เห็นชอบ 11 เสียง ไม่ออกเสียง 5 เสียง

นายบุญเสริม นาคสาร ได้รับเสียงเห็นชอบ 169 เสียง ไม่เห็นชอบ 14 เสียง ไม่ออกเสียง 6 เสียง

นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ ได้รับเสียงเห็นชอบ 172 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง ไม่ออกเสียง 7 เสียง

“ถือว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ทั้ง 5 ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากของส.ว.” นายพรเพชร ระบุ

ก่อนหน้านั้น นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ตั้งประเด็นคำถามถึงอำนาจของส.ว. ต่อการพิจารณาให้ความเห็นชอบตุลาการศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้กำหนดถ้อยคำที่ชัดเจนให้อำนาจวุฒิสภาดำเนินการ มีเพียงว่า เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ซึ่งต่างจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าส่งให้วุฒิสภาเห็นชอบ 

ทั้งนี้ ในกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลปกครอง ที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ.2542 นั้น ได้ออกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แม้ที่ผ่านมจะแก้ไขหลายครั้ง แต่ในกระบวนการนั้น ไม่พบการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ไม่มีข้อความส่งให้วุฒิสภาเห็นชอบ ดังนั้น ในกรณีที่ ส.ว.ชุดหน้าเข้ามาทำหน้าที่ อาจมีประเด็นเกิดขึ้น เพราะส.ว.อาจมองว่ามาจากพรรค หรือฝ่ายการเมือง ดังนั้นอาจเกิดการแทรกแซงขึ้นได้

นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์  ส.ว. ชี้แจงว่า โดยหลักการตุลาการศาลปกครอง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ใช้อำนาจพิจารณาข้อโต้แย้งระหว่างรัฐกับเอกชน ใช้อำนาจชี้ขาดการใช้อำนาจของรัฐ ต้องผ่านการกลั่นกรองและเห็นชอบจากองค์กรต่างๆ 

แม้การได้มาซึ่งตุลาการศาลปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ระบุว่าต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่หลักการดังกล่าวไม่ได้หายไป เพราะยังกำหนดว่าให้เป็นไปตามที่กฎหมายที่เกียวข้องบัญญญัติ

“แม้ถ้อยคำของรัฐธรรมนูญปัจจุบันต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้หลักการเปลี่ยนไป หรือ หายไป เพราะมีอยู่ตรงวรรคท้าย ว่า อยู่ที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายว่าด้วยวิธีการจัดตั้งศาลฯ มาจากรัฐธรรมนูญ ถือว่าคงหลักการเดิม เพราะตุลาการศาลปกครองถือเป็นผู้ใช้อำนาจวิจิจฉัยชี้ขาดอำนาจของรัฐ ต้องผ่านการตรวจสอ บและเห็นชอบจากองค์กรที่กำหนดไว้  

ส่วนที่มองว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง แก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง แต่พบว่าไม่ได้แก้ไขในหลักการประเด็นดังกล่าว และยังคงยืนยันหลักการ การใช้อำนาจของส.ว.ที่ต้องเห็นชอบว่า ไม่ได้ผิด หรือเกินเลยไป” นางกาญจนารัตน์ ชี้แจง
ทำให้ นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม  กล่าวย้ำในความเห็นของนางกาญจนารัตน์ และให้ วุฒิสภาเดินหน้าพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นการประชุมลับ