ศาลปกครองสูงสุดตีตกซ้ำคำร้อง ป.ป.ช. ปมขอไม่เปิดผลสอบนาฬิกา "บิ๊กป้อม"

12 ม.ค. 2567 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2567 | 15:56 น.

ศาลปกครองสูงสุดตีตกคำร้องป.ป.ช.ซ้ำอีก ปมขอพิจารณาคดีใหม่ ไม่เปิด 2 เอกสารผลสอบนาฬิกา "บิ๊กป้อม" ชี้ไร้พยานหลักฐานใหม่-ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์

วันนี้ (12 ม.ค. 67) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของสำนักงาน ป.ป.ช. เลขาธิการ ป.ป.ช. และ คณะกรรมการ ป.ป.ช. 

ในคดีที่ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการไต่สวนคดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาจงใจยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน อันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรทราบ กรณีไม่แสดงว่ามีนาฬิกาข้อมือ และ แหวนประดับหลายรายการ

โดยเฉพาะรายการที่ 3 รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งคณะทำงานรวบรวมข้อเท็จจริง เสนอต่อที่ประชุมป.ป.ช. ในวันที่ 27 ธ.ค. 2561 และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

และเอกสารรายการที่ 4 คำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร ทั้ง 4 ครั้ง ในคดีนี้ที่ยื่นกับป.ป.ช. ต่อ นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ผู้ฟ้องคดี ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และ การบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 333/2562 ลงวันที่ 22 ส.ค.2562 ภายใน 15 นับวัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ โดยศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำขอ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ในวันนี้ ระบุเหตุผลว่า ความเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายของ นายพงศ์พิพัฒน์ ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 42วรรคหนึ่ง  พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ในชั้นตรวจคำฟ้องก่อนที่จะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว 

แม้ประเด็นการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และแม้คู่กรณีไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามข้อ 92 ประกอบข้อ 116 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 แต่เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี 

และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเองก็มิได้ยกขึ้นโต้แย้งทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับมาตรา 69 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว มิได้บัญญัติให้คำพิพากษา หรือ คำสั่งชี้ขาดคดีของศาลจะต้องระบุถึงความเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรือ อาจจะเดือดร้อน หรือ เสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด 

เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้โต้แย้ง การเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวมา ศาลจึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัย และระบุไว้ในคำพิพากษา 

กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาลมีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. เดียวกัน ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างซึ่งจะทำให้ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด หรือ มีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่ง พ.ร.บ. ข้างต้น 

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่า เอกสารที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผย ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 และตามมาตรา 15 (2) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ2540 อีกทั้งได้อ้างพยานหลักฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ อร. 74/2564 แต่ศาลปกครองสูงสุดมิได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย และการไต่สวนของป.ป.ช. เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น  

เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างในการขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 326/2566 ได้วินิจฉัยไว้แล้ว กรณีจึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน การพิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเท่านั้น 

จึงไม่อาจถือได้ว่ามีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75วรรคหนึ่ง (3) แห่งพ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้าง  ดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้