โต้แย้งระเบียบการไฟฟ้าฯ ถอดมิเตอร์โดยไม่ยินยอม ฟ้องศาลไหน?

10 ธ.ค. 2566 | 08:30 น.
2.9 k

โต้แย้งระเบียบการไฟฟ้าฯ ถอดมิเตอร์โดยไม่ยินยอม ฟ้องศาลไหน? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3947

โต้แย้งระเบียบการไฟฟ้าฯ ถอดมิเตอร์โดยไม่ยินยอม ฟ้องศาลไหน? 
เชื่อว่าแทบทุกท่านคงเคยผ่านความรู้สึกกระวนกระวาย ... เมื่ออยู่ ๆ ไฟฟ้าก็เกิดดับกะทันหัน ต้องพยายามโทรศัพท์ไปสอบถามถึงสาเหตุ และอยากรู้คำตอบว่าเมื่อไรไฟฟ้าจะกลับมาใช้ได้ตามปกติ ! 

ด้วยเพราะไฟฟ้า ... ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ และขาดกันไม่ได้ไปเสียแล้ว หากไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือ ถูกตัดกระแสไฟฟ้า ย่อมสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มักจะมีอุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ ที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าในการทำงาน 

คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครองวันนี้ ... ก็ได้นำคดีใกล้ตัวที่ประชาชนอาจประสบเหตุ หรือ เกิดปัญหาเกี่ยวกับการให้บริการของการไฟฟ้าฯ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ เช่น กรณีที่การไฟฟ้าฯ งดจ่ายกระแสไฟฟ้า หรือถูกถอดมิเตอร์ไฟฟ้า เพราะผู้ใช้ค้างชำระค่าไฟฟ้า

หรือกรณีมิเตอร์ไฟฟ้าเสีย แล้วมีการเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าย้อนหลัง โดยคำนวณจากการเปรียบเทียบสถิติ และรายงานการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้า หรือ กรณีการเรียกเก็บค่าเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่ ฯลฯ ซึ่งหากผู้ใช้ไฟฟ้าเห็นว่า ไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถใช้สิทธิโต้แย้งโดยฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ตัดสินข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้ 

ปัญหาว่า ... กรณีมีข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ศาลใดจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี หรือ ประชาชนผู้เสียหายจะต้องฟ้องคดีที่ศาลใด? นายปกครองขออาสาพาไปหาคำตอบกันครับ 

มูลเหตุของคดีนี้เกิดจาก … ผู้ฟ้องคดีค้างชำระค่าไฟฟ้าเป็นเงินกว่าสี่หมื่นบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาจึงได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้า และทำการถอดมิเตอร์ไฟฟ้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าบ้าน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้ตนได้รับความเดือดร้อน บ้านที่อยู่อาศัยไม่มีไฟฟ้าใช้ และยังได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้ ซึ่งเป็นค่าเช่าบ้านที่ตนแบ่งบ้านส่วนหนึ่งให้ผู้อื่นเช่าอยู่อาศัยด้วย 

ผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุที่ตนต้องค้างค่าไฟฟ้า ก็เพราะว่าเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และเห็นว่ากฎระเบียบที่ให้อำนาจในการถอดมิเตอร์ไฟฟ้าได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้ก่อน เป็นการออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) 

จึงยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนกฎระเบียบดังกล่าว และขอให้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมทั้งให้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายด้วย 

คดีมีประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาก่อนว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับปัญหาการให้บริการไฟฟ้ากรณีถูกถอดมิเตอร์ไฟฟ้าโดยที่ผู้ใช้ไม่ยินยอม อันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในคดีนี้ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่? ซึ่งต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฯ และผู้ใช้บริการ เป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขา เป็นหน่วยงานในสังกัดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จึงถือเป็นหน่วยงานทางปกครอง 

และโดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไว้หลายประการ ซึ่งบางประการมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง เช่น อำนาจในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และบางประการก็มิได้เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง แต่เป็นการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์

เช่น การดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง หรือที่เป็นประโยชน์แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามมาตรา 6 (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งให้อำนาจในการดำเนินธุรกิจได้เช่นเดียวกับเอกชนทั่วไป นิติสัมพันธ์ระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกับเอกชนในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว จึงเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่ง

                                โต้แย้งระเบียบการไฟฟ้าฯ ถอดมิเตอร์โดยไม่ยินยอม ฟ้องศาลไหน?

เมื่อการงดจ่ายกระแสไฟฟ้าและการถอดมิเตอร์ ที่จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าบ้านของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากค้างชำระค่าไฟฟ้านั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจของการไฟฟ้าฯ ที่กระทำกับผู้ฟ้องคดีในฐานะเสมอภาคเช่นเดียวกับเอกชนต่อเอกชน

และสัญญาดังกล่าวมิได้มีลักษณะของสัญญาทางปกครอง (มิได้เป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ สัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ)  

อีกทั้ง มิได้เป็นการใช้อำนาจทางปกครองแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 

หากแต่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการถอดมิเตอร์ที่จ่ายกระแสไฟฟ้าดังกล่าว ถือเป็นข้อพิพาทอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 962/2565)

คดีดังกล่าวสรุปได้ว่า แม้การไฟฟ้าฯ จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่หลายประการ โดยบางประการถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครองก็ตาม แต่กรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ ทำกับประชาชนหรือเอกชนนั้น มีลักษณะเป็นการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ของการไฟฟ้าฯ ซึ่งเป็นนิติสัมพันธ์ในทางแพ่งภายใต้หลักกฎหมายแพ่ง

อันถือเป็นสัญญาทางแพ่ง กรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเห็นว่าตนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เช่น กรณีการไฟฟ้าฯ ถอดมิเตอร์ไฟฟ้า อันเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่งดังกล่าว ผู้เสียหายจึงต้องฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)