เปิดจุดตาย ครม.เศรษฐา พ้นทั้งคณะ จับตา 3 คดีร้อนการเมือง ปี 2567

01 ม.ค. 2567 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2567 | 17:16 น.

กางปฏิทินการเมืองเดือนมกราคม 67 จับตา 3 คดีร้อนในมือศาลรัฐธรรมนูญ พิธา-ก้าวไกล พ่วง ศักดิ์สยาม พ้นมลทินหรือไม่ ฝ่ายค้านจัด 33 ขุนพล ถลกงบประมาณปี 67 - เปิดจุดตาย ครม.เศรษฐา พ้นทั้งคณะ

ในวันที่ 2 มกราคม 2567 ถือเป็นการ “ทำงานวันแรก” ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โดยจะประเดิมด้วยการประชุม “ครม.นัดแรก” ของ “ปีมังกรทอง” 

โดยมีวาระร้อนที่รอการพิจารณาจาก “ครม.เศรษฐา 1” คือ การส่งความเห็นทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากลับมายังกระทรวงการคลังว่า การออกพ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในนโยบายดิจิทัลวอลเลต วงเงิน 5 แสนล้านบาทสามารถทำได้หรือไม่ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 67 

ต่อด้วยวันที่  3 – 5 มกราคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท 

ความน่าสนใจนอกจากพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน จัด 33 ขุนพลไว้ลับฝีปากแล้ว คือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสอง ระบุว่า ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ของ สส. สว. หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้ สส. สว. หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายจะกระทำไม่ได้

ในกรณีที่ สส.หรือ สว.มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีกระทำที่ฝ่าฝืนให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา หากวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล

“ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็น สส.หรือสว. ให้ผู้กระทำการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำหรืออนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และให้ผู้กระทำดังกล่าวต้องรับผิดชอบใช้เงินนั้นคืนพร้อมดอกเบี้ย”รัฐธรรมนูญมาตรา 144 ระบุ  

อุณหภูมิการเมืองจะเริ่มระอุขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ในวันที่ 17 มกราคม 2567 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัยคดีถือหุ้นบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จากกรณีที่ สส.54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภา ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สมัยที่ 2 ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง 

ซึ่งจะทำให้นายศักดิ์สยามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ 

ถัดจากนั้นวันที่ 24 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำพิพากษาคดีถือหุ้นไอทีวี จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องให้วินิจฉัยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)  

ปิดท้ายด้วยวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีที่นายธีรยุทธ์ สุวรรณเกสร ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรางเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ 

ทันที่เปิดศักราชใหม่ปี 2567 การเมืองจะเร่งเร้าให้การรัฐบาลเศรษฐานั่งไม่ติด-นอนไม่หลับก็เป็นได้