รู้จักหญิงอ้อ - พจมาน ดามาพงศ์ คู่บุญทักษิณ-คนสำคัญเพื่อไทย

29 ต.ค. 2566 | 09:28 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2566 | 10:06 น.
2.6 k

รู้จักหญิงอ้อ - พจมาน ดามาพงศ์ คู่บุญทักษิณ-คนสำคัญเพื่อไทย หลังปรากฎตัวต่อหน้าสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกพร้อมลูกสาวแพทองธาร ชินวัตร ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้หมดแล้ว

"คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์" ปรากฏตัวครั้งแรกต่อสื่อมวลชน พร้อมกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในงานแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 9 เฉลิมพระเกียรติ ที่บริเวณท้องสนามหลวง 

ซึ่งก็ถือว่าเป็นการออกงานครั้งแรกหลังจากที่นางสาวแพทองธารได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปทำความรู้จักกับ "คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์" กันอีกครั้ง กับผู้หญิงที่ถือว่ามีบทบาทกับการเมืองไทยค่อนข้างมาก

ประวัติคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์

  • เกิด : 22 พฤศจิกายน 2499 (อายุ 66 ปี)
  • คู่สมรส : ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย (สมรส พ.ศ. 2519–พ.ศ. 2551)
  • บิดา : เสมอ ดามาพงศ์
  • มารดา : พจนีย์ ณ ป้อมเพชร 
  • หลาน: พิณนารา คุณากรวงศ์, พิณธารา คุณากรวงศ์
  • การศึกษา: โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์, มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี
  • บุตร: พินทองทา คุณากรวงศ์, พานทองแท้ ชินวัตร, แพทองธาร ชินวัตร
  • พี่น้อง: บรรณพจน์ ดามาพงศ์ ,เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์  ,พงศ์เพชร ดามาพงศ์ ,พีระพงศ์ ดามาพงศ์

"อุ๊งอิ๊ง" ควง "คุณหญิงพจมาน" ปรากฎตัวครั้งแรก งาน เดิน-วิ่ง-ปั่น

บุตรคนสุดท้องตระกูล ดามาพงศ์

คุณหญิงพจมานมีชื่อเล่นว่า "อ้อ" เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 4 คนของ พลตำรวจโทเสมอ ดามาพงศ์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ กับคุณหญิงพจนีย์ ณ ป้อมเพชร เธอมีพี่ชายสามคนคือ พงษ์เพชร ดามาพงศ์, พลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ และ พลตำรวจโท นายแพทย์ พีระพงศ์ ดามาพงศ์ นอกจากนี้ยังมีพี่ชายบุญธรรมคือ บรรณพจน์ ดามาพงศ์ 

"คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์" ปรากฎตัวครั้งแรกต่อสื่อมวลชน

เมื่อแรกเกิด พจนีย์ตั้งชื่อให้ว่า "สร้อยเพชรพจมาน" ต่อมาจึงลดลงเหลือเพียงพจมาน ในปี พ.ศ. 2513 บิดาและมารดาได้หย่ากัน โดยมารดากลับไปใช้นามสกุลก่อนสมรสคือ ณ ป้อมเพชร พจมานมีอุปนิสัยเรียบร้อย พูดน้อย มีความเป็นระเบียบเช่นบิดา และมีใจเอื้ออารีเช่นมารดา

อย่างไรก็ดี สายสกุล “ณ ป้อมเพชร” ของคุณหญิงพจมาน นั้น เป็นคนละสายที่สืบสกุลจาก พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) เป็นบุตรชายคนโตของพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา ที่ได้รับพระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” จากพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 (เขียนต่างกันที่ ร.การันต์)

บรรพชนทางฝ่ายบิดาของคุณหญิงพจมานอพยพมาจากจังหวัดหนองคาย เป็นทวดชื่อ ดา ดามาพงศ์ ต่อมาได้มาตั้งรกรากอยู่ในตำบลหนองโดน อำเภอจัตรัส จังหวัดชัยภูมิ สมรสกับนางบุญมา มีบุตรชายชื่อสมิง (ที่ต่อมาคือ ร้อยตำรวจเอก จำปา) ซึ่งเป็นปู่ของคุณหญิงพจมาน ส่วนบุรพชนฝ่ายมารดาสืบเชื้อสายมาจากพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) มีบุตรชายกับภริยานางหนึ่ง คือ พันตำรวจเอก พร้อม ณ ป้อมเพชร ซึ่งเป็นตาของคุณหญิงพจมาน

คุณหญิงพจมาน เป็นเครือญาติกับสุชน ชาลีเครือทางฝ่ายบิดา และเป็นญาติกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และพิมเพ็ญ เวชชาชีวะทางฝ่ายมารดา

คุณหญิงพจมานศึกษาชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ หลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 พลตำรวจโทเสมอส่งคุณหญิงพจมานไปศึกษาต่อจบสำเร็จการศึกษาอนุปริญญาบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สหรัฐอเมริกา ซึ่งการเดินทางไปศึกษาต่อของเธอนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ทักษิณสอบได้เป็นที่หนึ่งของรุ่น ได้รับทุนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิรน์เคนทักกี สหรัฐอเมริกา

"คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์" ปรากฎตัวครั้งแรกต่อสื่อมวลชน

พบทักษิณ ชินวัตร

คุณหญิงพจมานพบกับทักษิณ เป็นครั้งแรกขณะเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นพี่ของพงษ์เพชร ผู้เป็นพี่ชาย และพบกันอีกครั้งที่สหรัฐอเมริกาขณะที่พจมานไปศึกษาต่อ ก่อนเดินทางกลับมาประกอบพิธีมงคลสมรสที่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2519 และเดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อทักษิณ ได้รับทุนศึกษาต่อปริญญาเอก 

ส่วนคุณหญิงพจมานสำเร็จปริญญาตรี Associate of Arts และสาขาบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยอีสเทิรน์เคนทักกี และให้กำเนิดบุตรชายคนโตคือ พานทองแท้ ขณะพักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

หลังจากกลับมายังประเทศไทยพร้อมกับทักษิณ ก็ช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ของสามีตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขายผ้าไหม เจ้าหน้าที่รับจองคอนโดมีเนียม รวมถึงคอยปรนนิบัติสามีและดูแลบุตร จนกระทั่งเมื่อ ทักษิณ ก่อตั้งบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการให้เช่าคอมพิวเตอร์ และต่อมากลายเป็นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินกิจการโทรคมนาคม คุณหญิงพจมานก็ยังคงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ช่วยเหลือสามีดูแลกิจการตลอดมา

โดนคดีจงใจหลีกเลี่ยงภาษีหุ้น

ทางด้านคดีความนั้น วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกคุณหญิงพจมาน และบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรม คนละ 3 ปี ในคดีร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงภาษีหุ้น บริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 546 ล้านบาท

ในปลาย พ.ศ. 2551 คุณหญิงพจมานจดทะเบียนหย่ากับทักษิณ

ที่มา : วิกิพีเดีย