“มาดามเดียร์”แนะเร่งสร้างความเชื่อมั่นท่องเที่ยวหลังเกิดเหตุที่พารากอน

05 ต.ค. 2566 | 19:54 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2566 | 20:05 น.

“มาดามเดียร์”แนะเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว หลังเกิดเหตุการณ์ยิงที่สยามพารากอน โดยต้องประกาศกวาดล้างปืนเถื่อน และบังคับใช้กฎหมายครอบครองอาวุธปืนให้เข้มงวด

มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “เดียร์ วทันยา บุนนาค” และทวิตเตอร์ @dearwatanya ถึงแนวทางที่รัฐบาลควรปฏิบัติเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว หลังเหตุการณ์ยิงที่สยามพารากอน โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ในภาวะที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลควรจัดการเหตุยิง #พารากอน อย่างไรเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา?!?!

ข้อแรก ต้องประกาศ #กวาดล้างปืนเถื่อน และบังคับใช้กฎหมายครอบครองอาวุธปืนให้เข้มงวด

จากสถิติพบว่า ประเทศไทยถือครองปืนมากที่สุดในอาเซียน และมีปืนเถื่อนอยู่กว่า 4 ล้านกระบอก แม้จะมีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่กำหนดโทษการครอบครองปืนเถื่อนไว้ทั้งจำคุก 1-10 ปี และปรับ 2,000-20,000 บาท แต่ยังขาดการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง 

ถ้ารัฐบาลประกาศกวาดล้างปืนเถื่อนให้สิ้นซากภายในระยะเวลาเร่งด่วน เช่น 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนจะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาไทยได้มากขึ้น

ข้อสอง ช่องว่างกฎหมาย #แบลงค์กัน คือ สิ่งเทียมอาวุธ-อาวุธโดยสภาพ  

ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ไม่ถือว่า Blank Gun เป็นอาวุธปืน การซื้อและครอบครองจึงไม่ต้องขออนุญาต ยกเว้นแต่การสั่งนำเข้า หรือ จำหน่ายที่ต้องขอใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ แม้ฝ่ายตำรวจจะคัดค้านมาตลอด เพราะ Blank Gun ยิงด้วยกระสุนจริง เพียงแต่ไม่มีหัวกระสุน แต่เมื่อแยกชิ้นส่วนแล้ว มันก็คือกระสุน และผิดกฎหมายทุกชิ้นส่วน

ยิ่งไปกว่านั้น หากมีคนมีความรู้เรื่องอาวุธปืน ก็สามารถใช้ Blank Gun ยิงทำร้ายคนอื่นได้ โดยไม่ต้องโมดิฟายลำกล้อง ทั้งยังเคยมีผู้ใช้ Blank Gun ก่อคดีมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคดียิงที่ห้างสยามพารากอน หรือ คดีที่เกิดในพื้นที่นครบาล 2 คดี ปทุมธานี 1 คดี และมีประมาณการว่า ในตลาดปืน มี Blank Gun เป็นแสนกระบอก กระสุนน่าจะเป็นล้านนัด 

ดังนั้น ที่กฎหมายระบุว่า สิ่งเทียมอาวุธปืน ครอบครองได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จะผิดก็ต่อเมื่อถูกนำมาใช้เสมือนเป็นอาวุธปืนจริงๆ จึงกลายเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย เช่นเดียวกับมีด ที่ถูกนิยามว่าเป็น “อาวุธโดยสภาพ” ที่ต้องใช้การควบคุมกันเอง และสุดท้ายผู้ที่มีเจตนาใช้ความรุนแรง อาจหันไปใช้อาวุธโดยสภาพก่อเหตุแทนก็เป็นได้

ข้อสาม #MediaLiteracy สิ่งจำเป็นในหลักสูตรการศึกษาไทย

การศึกษาไทยควรบรรจุการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันสื่อ เพื่อตรวจสอบ วิเคราะห์ แยกแยะ ก่อนใช้งาน หรือก่อนจะตกเป็นเหยื่อในโลกอินเตอร์เน็ต เพราะในเคส #พารากอน หลายคนออกมาวิเคราะห์ว่า อาจจะเกิดการลอกเลียนแบบความรุนแรงในมุมผู้ก่อเหตุ 

ในมุมประชาชนทั่วไป เราเห็นการใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นอันตราย เช่น การโพสต์บอกที่หลบภัย การสร้างคอนเทนต์เรียกยอดวิวในสถานการณ์อันตราย หรือ แม้กระทั่งการเผยแพร่รูปที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือ สิทธิเด็ก หรือ แชร์รูปผู้เสียชีวิตโดยที่ไม่มีการเซนเซอร์ ซึ่งนำมาสู่การกระทำผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์ฯ และ PDPA และความเสียหายในระดับชาติ เป็นต้น ซึ่งในยุคดิจิทัล ความรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่คนไทยและเด็กไทยต้องตระหนัก

ทั้งหมดนี้คือ การเตรียมความพร้อมของสังคมในระยะยาว และการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาในระยะเร่งด่วน ที่หวังว่าผู้มีอำนาจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเห็นความสำคัญ และลงมือทำก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้