“แบลงค์กัน” ครอบครอง-นำเข้า ผิด กม.อาวุธปืน ?

05 ต.ค. 2566 | 10:17 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2566 | 16:31 น.
3.9 k

เปิดความเห็น ตำรวจไซเบอร์-กรมการปกครอง -ฝ่ายกฎหมาย มหาดไทย คนทั่วไปครอบครอง-นำเข้าเพื่อการค้า เข้าข่ายอาวุธปืน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ตาม พ.ร.บ. 2490 หรือไม่

"แบลงค์กัน" (Blank Guns) ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย หลังเยาวชนนำมาใช้ก่อเหตุยิงในห้างพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ล่าสุด ตำรวจ สน.ยานนาวา ขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญากรุงเทพใต้ จับกุม 3 บุคคล เป็นผู้ที่จำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนให้กับผู้ก่อเหตุพารากอน อยู่ระหว่างติดตามอีก 1 ราย

ที่ผ่านมา Blank Guns ถูกระบุว่า เป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ทำอันตรายถึงชีวิต นิยมใช้ในการแสดง ไม่สามารถใช้กระสุนจริงได้ แต่ปัจจุบันมีกลุ่มคนนำมาดัดแปลงเพื่อให้สามารถใช้ได้กับกระสุนจริง

คำถาม คือ คนทั่วไปครอบครอง นำเข้าเพื่อการค้า เข้าข่ายอาวุธปืน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 หรือไม่

ในแง่ของการตีความสถานะแบลงค์กัน ก่อนหน้านี้ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) มีหนังสือ สอบถามรายละเอียดปืนแบลงค์กัน และเครื่องกระสุน ไปยังคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย หลังขยายผลจับกุมร้านค้าจำหน่ายอาวุธปืนผิดกฎหมายและยึดของกลางปืนแบลงค์กันและเครื่องกระสุนไว้ โดยเห็นว่า "ของกลางดังกล่าวไม่ใช่สิ่งเทียมอาวุธปืนแต่จัดเป็นอาวุธตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ"

จึงมีสอบถามมาว่าปืนชนิดนี้จัดว่า เป็นอาวุธปืน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปีน พ.ศ. 2490 หรือไม่ อย่างไร และบุคคลใดจะครอบครอง นำเข้า เพื่อการค้าจะต้องมีการขออนุญาตแบบใดและมีขั้นตอนทางกฎหมายอย่างไร

ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ครั้งที่ 19/2565 เมื่อวันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ในระเบียบวาระที่ 3 สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อหารือตีความสถานะของปืนแบลงค์กันได้ว่า

กรมการปกครอง (สำนักงานสอบสวนและนิติกร) เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน 2490 ปืนแบลงค์กัน คือ ปืนเลียนแบบ ปืนจำลอง หรือโมเดลปืน ที่จำลองรูปแบบและหลักการทำงานมาจากอาวุธปืนแต่ไม่สามารถขับเครื่องกระสุนปืนหรือเม็ดกระสุนใดๆ ออกมาจากลำกล้องได้ ขณะที่การออกแบบและผลิตจะป้องกันให้แบลงค์กันไม่สามารถใช้กระสุนจริงได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของปืนชนิดนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนต์ กีฬา ปล่อยตัวนักกีฬา สะสม ฝึกซ้อมก่อนมีอาวุธปืนจริง จึงถือว่าเป็น “สิ่งเทียมอาวุธปืน” และ ส่วนข้อกฎหมายว่าด้วย“เครื่องกระสุนปืน”

กระสุนที่ใช้กับแบลงค์กัน ผลิตพิเศษเฉพาะใช้กับแบลงค์กันเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นกระสุนส่งออกจากปลายลำกล้อง โดยคล้ายกับกลไกการกับพลุหรือประทัด ซึ่งใช้ได้ครั้งเดียวและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ และเมื่อนำลูกกระสุนแบลงค์กันมาใช้ยิงไม่สามารถขับสิ่งใดออกจากปลอกกระสุนได้ ดังนั้น กระสุนแบลงค์กันจึงเป็นดอกไม้เพลิง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน 2490

จากความเห็นข้างต้นแสดงให้เห็นว่า 2 หน่วยงาน กรมการปกครองและตำรวจไซเบอร์ มีความเห็นที่แตกต่างกัน กรมการปกครองพิจารณาแล้วว่า มีปัญหาในประเด็นการตีความการบังคับใช้กฎหมายระหว่าง 2 หน่วยงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกับการปฎิบัติงาน รวมทั้งประชาชนและผู้ประกอบการที่ขอใบอนุญาตสิ่งเทียมอาวุธ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนให้คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยต่อไป  

ความเห็นของ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ กระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 เห็นว่า กรมการปกครองควรพิจารณาเจตนารมณ์ พ.ร.บ. อาวุธปืน 2490 ที่คุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยจากอาวุธ จึงควรมีนโยบายการควบคุมปืนแบลงค์กัน โดยพิจารณาจากศักยภาพและอันตรายของปืนแบลงค์กัน ว่า เมื่อนำไปใช้จะเป็นอันตรายอย่างไร มากกว่าการตีความนิยามว่าเป็นอาวุธปืนหรือสิ่งเทียม อาวุธปืน รวมทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับปืนแบลงค์กันกับผู้ทำถูกต้องเพราะข้อกฎหมายที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบตีความขัดแย้งกัน

ควรศึกษาข้อมูลและแก้ปัญหา โดยกำหนดการควบคุมและแก้กฎหมายส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง รวมถึงแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย โดยการกำหนด รายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืนหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนก็ตาม อาจแบ่งกลุ่ม ประเภท แต่ละชนิดและลักษณะของอาวุธ กำหนดระดับการควบคุม ความผิดระดับต่างๆ อาจกำหนดนโยบายในการควบคุมและผ่อนปรนไว้ ในส่วนของบทเฉพาะกาล

"จึงไม่ควรพิจารณาตีความว่าปืนแบลงค์กัน เป็นอาวุธปืนหรือสิ่งเทียม ตามนิยามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาวุธปีน ปี 2490"

แต่ควรแก้ไขปรับปรุง กำหนดมาตรการต่างๆ หารือกันระหว่างหน่วยงาน ในช่วงนี้จึงควรชะลอการปรับใช้บังคับ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน 2490 กับปืนแบลงค์กันไว้ก่อน และเร่งศึกษา รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติอาวุธปืน 2490 ต่อไป ซึ่งอาจออกหนังสือสั่งการ แนวทาง ตามที่ศาลหรือพนักงานอัยการ ได้วางแนวปฏิบัติไว้ และบังคับใช้กฎหมายตามหน้าที่และอำนาจ ซึ่งมีอยู่ตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน ที่กำหนดเรื่องการขออนุญาตน่าเข้าหรือจำหน่าย

ขณะที่ความเห็นของ "สำนักกฎหมายปลัดกระทรวงหมาดไทย" ยกข้อเท็จจริงตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ลงวันที่ 28 มิ.ย.2564 มีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องคดีเกี่ยวกับการมีปืนแบลงค์กันไว้ในครอบครอง

โดยได้อธิบายลักษณะของปืนแบลงค์กันโดนสรุป ว่า เป็นปืนเสียงเปล่า รูปร่างเป็นอาวุธปืนที่จำลองรูปแบบ และหลักการทำงานมาจากปืนจริงเท่านั้นไม่สามารถขับเคลื่อนกระสุนปืนจริงออกมาจากลำกล้องได้ เปลวไฟที่เกิดจากการยิงไม่มีความรุนแรงสามารถทำอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตได้ดังเช่นอาวุธปีนทั่วไป

พร้อมยกคำพิพากษา ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ คดีหมายเลขแดง ที่ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำผิดฐาน มีปืนแบลงค์กันไว้โนครอบครอง มาประกอบการตีความ ประกอบกับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยให้ความเห็น เกี่ยวกับลักษณะของ BB GUN ว่า ไม่ได้เป็นอาวุธปืน ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพราะโครงสร้างผลิตจากพลาสติกและเหล็กธรรมดาบางส่วน ไม่แข็งแรงทนทานพอจะใช้เป็นอาวุธส่งเครื่องกระสุนปืนได้

ปืนแบลงค์กัน จึงเป็นเพียง "สิ่งเทียมอาวุธปีน" ตามมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และไม่ถือเป็นอาวุธปืนตามมาตรา 4(1) เป็นเพียง "สิ่งเทียมอาวุธปืน" การมีไว้ในครอบครอง จึงไม่มีความผิด และไม่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติฯ เนื่องจากไม่ได้กำหนดว่าผู้มีสิ่งเทียมอาวุธไว้ในครอบครองได้ต้องมีใบอนุญาตให้มีครอบครองก่อน แต่ การ สั่ง นำเข้า หรือค้าสิ่งเทียมอาวุธปืน ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ใบอนุญาตมีอายุใช้ได้ 1 ปี นับแต่วันออก ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา

คลิกอ่านฉบับเต็ม ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ครั้งที่ 19/2565 เมื่อวันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ในระเบียบวาระที่ 3 

ประธาน กมธ.กฎหมายขานรับทบทวน พ.ร.บ.ปืน  รอหารือ กมธ.พิจารณา

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าว ว่า ส่วนตัวเห็นว่า ควรต้องทบทวนรายละเอียดของกฎหมาย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมของกรรมาธิการว่าจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งในสัปดาห์หน้ากรรมาธิการจะประชุมเพื่อวางกรอบการทำงานตามบทบาทหน้าที่อีกครั้ง โดยยืนยันว่า ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และสังคมให้ความสนใจ เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการในการศึกษาหาข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ขณะเดียวกัน ในการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร นัดแรกในวันนี้ (5 ต.ค.) ที่ประชุมมีมติให้ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นประธานกรรมาธิการฯ และมีรองประธานกรรมาธิการ 4 คน

ได้แก่ นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล, นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย, นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม และนายองอาจ วงษ์ประยูร สส.สระบุรี พรรคเพื่อไทย และมีโฆษก 2 คน ได้แก่ นายณัฏฐ์ชนนท์ ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย และนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล เป็นต้น

หากย้อนสถิติการจับกุมแบลงค์กัน ก่อนหน้าเดือน ก.ค. ปีที่ผ่านทาง ตำรวจไซเบอร์เปิดยุทธการ CyberCop cracked down on Online Scammers ตรวจยึดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนจำนวนมาก ที่น่าสนใจคือการตรวจยึกแบลงค์กันได้กว่า 2,000 กระบอก กระสุนปืนกว่าแสนนัด