“รองผบ.ตร.”ใต้ปีก“บิ๊กต่อ” “5 ตัวตึง”มีสิทธิ์เบียด“ต่าย-โจ๊ก”

02 ต.ค. 2566 | 17:45 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2566 | 18:04 น.
18.2 k

การแต่งตั้ง รองผบ.ตร. ในปี 2566 ต้องจับตามองเป็นพิเศษไปยัง 5 ผช.ผบ.ตร.ตัวตึง ที่อาจเบียดขึ้นเป็น ผบ.ตร.ในอนาคตได้ นั่นคือ “พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์-พล.ต.ท.นิรันดร์ เหลื่อมศรี-พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร-พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง-พล.ต.ท.สำราณ นวลมา” : รายงานพิเศษ โดย...ต้นกล้า

นับจาก ที่ประชุมคณะกรรมการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ภาพที่ทุกคนมองเห็นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากปฏิบัติการช็อกผู้คนทั้งประเทศว่า “แตกยับจนยากแก่การสมานฉันท์” ได้เริ่มแปรเปลี่ยนไป

28 กันยายน 2566 ในช่วงค่ำ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้เรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มาพบ เพื่อพูดคุยว่ามีเรื่องอะไร เพราะได้รับทราบนโยบายของ นายกรัฐมนตรี-เศรษฐา ทวีสิน มาว่า อยากให้แก้ปัญหาภาพรวมขององค์กรตำรวจ ถ้า ตร.ทะเลาะกัน เด็กๆ จะมองเราอย่างไร เราอาจจะไม่ได้ทะเลาะกัน แต่อาจมีคนไม่หวังดี 

“ผมก็บอกน้องไปว่า เราอย่าทะเลาะกัน มีคนไม่หวังดี เรื่องนี้อาจมีคนนอกมองว่า องค์กร ตร.ทะเลาะกันหรือเปล่า อาจเป็นเพราะมีคดีเกิดขึ้นในช่วงนั้นหลายคดี นายกฯ บอกว่า ถ้าไม่ได้ทะเลาะกันก็ไปแก้ปัญหา เป็น ผบ.ตร.แล้ว ไปแก้ปัญหา 

“คืนนั้นผมพูดว่าในชีวิตของพี่ พี่บอกกับโจ๊กเสมอว่า ถ้าขาดจากพี่ไปแล้ว เอ็งหาคนที่จริงใจกับเอ็งแบบพี่ ไม่ได้หรอก" 
 

ดังนั้น หากมีอะไรเข้ามาในชีวิตต้องมีสติก่อน เพราะหากเรามีสติ เราจะแก้ปัญหาด้วยปัญญา แต่หากขาดสติ เราจะแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ และที่มีปัญหาทุกวันนี้ก็มาจากคนขาดสติ และแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ ผมเป็นคนจริงใจ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ผมไม่เคยยิงกระสุน ไม่แทงใครลับหลังแน่นอน”

บริบท ในการสุมไฟในองค์กรตำรวจ จึงเริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดในเรื่องความขัดแย้งลงมาได้ระดับหนึ่ง

ผ่อนคลายชนิดที่ว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้หารือกับ “ทนายอนันตชัย” เพื่อหยุดการทำคดีที่เกี่ยวพันกับตัวเอง 

                          “รองผบ.ตร.”ใต้ปีก“บิ๊กต่อ” “5 ตัวตึง”มีสิทธิ์เบียด“ต่าย-โจ๊ก”

แม้ในวันอำลาตำแหน่งของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ในวันที่ 29 กันยายน 2566 จะไร้เงาของ

“พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์” รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล แต่สายข่าวบอกว่า “2 รอง ผบ.ตร.” ได้แจ้งให้ทราบก่อนหน้าว่า “ติดภารกิจสำคัญ”

30 กันยายน 2566 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล พ้นจากตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 

ก่อน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ไปทำบุญที่พักสงฆ์ถ้ำแก้วภาวนา ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นประธานพิธีบวงสรวงเบิกเนตรพระศรีอริยเมตไตรย บรมมหาจักรพรรดิ (หลวงพ่อสุขใจ) โดยมี พระครูปลัดสมาน ชุติมุนโต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

เหล่าข้าราชการตำรวจ หลั่งไหลมาร่วมงานคับคั่ง พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3) พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.)  พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ 

นายตำรวจบางคนร่วมทำบุญเป็น “ล้าน” สะท้อนถึงการที่ “บิ๊กต่อ” กระชับคน กระชับพลังอำนาจ ในองค์กรตำรวจได้เบ็ดเสร็จ

                             “รองผบ.ตร.”ใต้ปีก“บิ๊กต่อ” “5 ตัวตึง”มีสิทธิ์เบียด“ต่าย-โจ๊ก”

ฉากต่อไปที่ต้องจับตาว่า “บิ๊กต่อ-ผบ.ตร.” จะสร้าง "บ้าน" ให้เสา-คาน-ขื่อแป-หลังคา แข็งแรงแค่ไหนให้พิจารณาจากการมอบอำนาจ รอง ผบ.ตร. ทั้ง 3 คน และแต่งตั้ง “จเรตำรวจ-รอง ผบ.ตร.” 3 คน รวมถึงการแต่งตั้ง “ผู้ช่วย ผบ.ตร.-ผบช.” ร่วม 20-30 คน หลังจากนี้ไปว่า จะเป็นเช่นไร กระชับอำนาจ กระจายอำนาจ มากแค่ไหน!

แม้บิ๊กต่อจะบอกว่า โจทย์แรกที่จะเร่งทำก่อนคือ การจัดวางตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ในการควบคุมหน้างาน และการแต่งตั้งโยกย้ายโดยระบบคุณธรรม โดยในการแบ่งงานจะให้เลือกตามความอาวุโส ให้แต่ละคนเลือก แล้วจะส่งผู้ช่วย ผบ.ตร.เข้าไปช่วย ทุกคนแฮปปี้ คุยกันหมด รองฯ รอย มีสิทธิเลือกก่อน ตามด้วย รองฯ โจ๊ก รองฯ ต่าย  อยากให้ดูการจัดวางหน้างาน 

ทว่าในการแต่งตั้ง “รอง ผบ.ตร. - ผช.ผบ.ตร.” รอบนี้ จะมีผลไปถึงเก้าอี้ “ผบ.ตร.คนที่ 15 และ ผบ.ตร.คนที่ 16” เลยทีเดียว

ทำไมเป็นเช่นนั้น!

เพราะในระนาบ รอง ผบ.ตร. ปัจจุบัน นั้น “รอง รอย” เกษียณปี 2567 พร้อมกับบิ๊กต่อ แต่ “รอง โจ๊ก-เกษียณปี 2574” รอง ต่าย เกษียณปี 2569

แต่นายตำรวจยศ พล.ต.ท.ในระดับ ผช.ผบ.ตร. จำนวน 10 คน ที่จ่อคิวขยับขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร.นั้น บางคนอายุราชการยาวไปถึง ปี 2569 บางคนอายุราชการยาวไปถึงปี  2571 บางคนอายุราชการยาวไปถึงปี 2576 

แม้ว่าในข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติตำรวจ พ.ศ.2565 จะเขียนไว้ใน มาตรา 78 ว่า การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) (2) (3) (4) (5) (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ชัดเจนว่า ให้คำนึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรือ งานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

และมีกฎเกณฑ์หลักในการพิจารณา แบ่งเป็นคะแนนอาวุโส กับความรู้ความสามารถอย่างละ 50% เท่าๆ กัน 
ส่วนอีก 50% ให้พิจารณาตามสายงาน 5 สายงาน ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้พิจารณา แต่ให้คะแนนประสบการณ์ งานสืบสวนสอบสวน และงานปราบปรามเป็นหลัก มากกว่าคะแนนด้านอื่น

โดยในมาตรา 78 (1) ระบุว่า โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันปราบปราม แต่ในสายงานอื่นก็ต้องมีคะแนนด้วย การกำหนดคะแนนต้องกำหนดให้เกิดความเป็นธรรม

สำหรับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้ เช่น งานสืบสวน 12 คะแนน งานสอบสวน 12 คะแนนงานป้องกันปราบปราม 12 คะแนน งานที่เหลืออีก 2 ด้าน ด้านละ 7 คะแนน เป็น 14 คะแนน รวมเป็น 50 คะแนน ให้มีการกำหนดช่วงห่างการให้คะแนน ต้องกำหนดไว้ว่า ถ้าใครผ่านงานชนิดใดมามากน้อยเท่าใดแล้ว จะได้คะแนนมากน้อยเท่าใด

ทว่าการแต่งตั้ง “ผบ.ตร.-รอง ผบ.ตร.-ผู้ช่วย ผบ.ตร.” ไม่เคยมีการทำตามหลักเกณธ์ เพราะ ก.ตร. ต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบ

กล่าวคือ ในรอบปี 2565 ผู้ช่วย ผบ.ตร.อาวุโสลำดับที่ 4 พล.ต.ท.สุรเชษฐ หักพาล อาวุโสลำดับ 8 พล.ต.ท.กิตต์รัฐ พันธ์เพชร อาวุโสลำดับ 10 พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล  ขึ้นเป็น รองผบ.ตร. แซงหน้า อาวุโสอันดับ 2-3 “ไกรบุญ ทรวดทรง-สราวุฒิ การพานิช” ที่ปัจจุบันยังเป็น “ผู้ช่วย ผบ.ตร.”

ดังนั้น การแต่งตั้ง รอง ผบ.ตร. ในปี 2566 จะต้องจับตามองเป็นพิเศษ แม้จะมี 3 คน ที่จะขึ้น รอง ผบ.ตร. 2 คน ขึ้นกินอัตรา พล.ต.อ.ในตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ 1 คน ดังนั้น ไม่จำดักวงแค่ “ไกรบุญ ทรวดทรง-สราวุฒิ การพานิช”ที่เกษียณปี 2567 แต่ให้จับตาไปยัง  “ผช.ผบ.ตร.ตัวตึง” ในอนาคต ที่อาจเบียดขึ้นเป็น ผบ.ตร.ได้เลย นั่นคือ “พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์-พล.ต.ท.นิรันดร์ เหลื่อมศรี-พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร-พล.ต.ท.สำราณ นวลมา”

เพราะอะไร?

เพราะมีความสำคัญในการชิงเก้อาอี้ ผบ.ตร. จาก รอง ผบ.ตร. ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน และพ่ายแพ้แก่ “บิ๊กต่อ” ไปนะสิท่านผู้ชม

                             “รองผบ.ตร.”ใต้ปีก“บิ๊กต่อ” “5 ตัวตึง”มีสิทธิ์เบียด“ต่าย-โจ๊ก”

ลองพิจารณาจากอายุราชการของ รองผบ.ตร. ยุคปัจจุบันที่ตัด “บิ๊กรอย” ออกจากสารบบ เพราะเกษียณปี 2567 พร้อม “บิ๊กต่อ” ได้ 1.พล.ต.อ.กิตต์รัฐ เกษียณอายุราชการปี 2569 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เกษียณราชการในปี 2574

แต่ถ้า แต่งตั้ง 5 ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่เป็นตัวตึง มีผลงานและมีแบ็กดี 5 คนนี้มา รับรองว่า ตำแหน่ง ผบ.ตร.คนที่ 15 และคนที่ 16 แปรเปลี่ยนไปจาก “ตัวเต็ง” ทันที

พล.ต.ท.ธนา ชูวงษ์ อายุราชการยาวไปถึงปี 2569 เท่ากับ “บิ๊กต่าย”

พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี อายุราชการยาวนานไปถึงปี 2571

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง อายุราชการยาวไปถึงปี 2569

พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร อายุราชการยาวนานไปถึงปี 2570

พล.ต.ท.สำราณ นวลมา อายุราชการยาวนานกว่า “บิ๊กโจ๊ก” เกษียณราชการยาวไปถึง ปี 2576

เรียกว่าใครขึ้น รอง ผบ.ตร. รอบนี้ มีโอกาสชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 15 ต่อคิวจาก “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” และมีโอกาสเข้าชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 16 ได้เลย

ชนิดที่อาจทำให้ “2 รอง ผบ. ตร.”ทั้ง “บิ๊กต่าย-บิ๊กโจ๊ก” หนาวได้ทีเดียว