“เรืองไกร“ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลปกครองวินิจฉัยปมตั้ง “บิ๊กต่อ” นั่ง ผบ.ตร.

29 ก.ย. 2566 | 13:33 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 13:37 น.

“เรืองไกร”ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงศาลปกครองวินิจฉัยการกระทำของ “นายกฯ-ก.ตร. 9 คน” ตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่

วันนี้ (29 ก.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผย ในช่วงเช้าวันนี้ตนได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ตรวจสอบว่า การที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ 

นายเรืองไกร ระบุว่า การที่ ก.ตร.แต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร. เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในวงกว้าง ทำให้ตนสนใจ จึงไปดูรัฐธรรมนูญและกฎหมายในมาตราที่เกี่ยวข้อง


รัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) บัญญัติไว้ว่า

“(4) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง และโยกย้าย และการพิจารณาบําเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรม ที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน”

พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 78(1) บัญญัติว่า “มาตรา 78 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77(1) ให้นายกรัฐมนตรี คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77(1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง”

นายเรืองไกร กล่าวว่า ตามผลการประชุม ก.ตร. เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 ที่ได้มีมติเสียงข้างมาก (9 ต่อ 1 งดออกเสียง 2) เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร.คนต่อไปนั้น ต่อมา พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิจากการเลือกตั้ง ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ได้โหวตไม่เห็นด้วยเป็นเสียงข้างน้อย ด้วยเหตุผลที่ได้ขอบันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่า “การคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร. ไม่เป็นหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้”

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากข้อความที่ระบุว่า “การคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.ไม่เป็นหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้” ซึ่งน่าจะหมายถึง การเลือก ผบ.ตร. ครั้งนี้ อาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 258 และ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 78 บังคับไว้

จึงมีเหตุที่ต้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 231(2) โดยการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้าว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้คัดเลือกรายชื่อพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ รวม 9 คน ที่ลงมติให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) และมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 78 หรือไม่

โดยในการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองนั้น ตนได้ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เรียกรายงานการประชุมของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 มาประกอบการพิจารณาด้วย และขอให้นายกรัฐมนตรีนำพยานหลักฐานในการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77(1) มาประกอบการพิจารณาว่า การเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 บัญญัติว่า ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน นั้น นายกรัฐมนตรี ใช้หลักเกณฑ์อะไร มีขั้นตอนอย่างไร และเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร หรือไม่

นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 หน้า 27 มาเทียบเคียงด้วย ซึ่งระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า “…แต่การใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นอกจากจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ยังจะต้องคำนึงถึง วัตถุประสงค์ของกฎหมายและอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายอีกด้วย นอกจากนี้ การใช้อำนาจดุลพินิจ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการโอนผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือระดับกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งอื่น ก็จะต้องมีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วย”