ส่องมาตรา 87 พ.ร.บ.ตำรวจ เปิดช่องร้องเรียน "แต่งตั้งโยกย้าย" ไม่เป็นธรรม

28 ก.ย. 2566 | 16:39 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2566 | 17:15 น.
1.1 k

เปิดขั้นตอน มาตรา 87 พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 ระบุ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่งตั้งโยกย้าย แจ้งร้องเรียนที่ ก.ตร.ได้ ไม่เว้นแม้แต่ระดับ รอง ผบ.ตร. เผยตุลาคมนี้เตรียมแต่งตั้งคณะทำงาน 7 คน ดูเรื่องร้องเรียนแทนก.ตร. ยื่นร้องทุกข์ได้ใน 30 วันหลังรู้คำสั่งแต่งตั้ง

ยังคงร้อนระอุกับวงการสีกากี หลังจากประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แล้ว มีการพิจารณาแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 ต่อจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ โดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ความอาวุโสเป็นหลัก ทำให้เกิดกระแสข่าวถึงความไม่ธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย 

ในเรื่องนี้ ตามพ.ร.บ.ตำรวจใหม่ ได้มีข้อกำหนดระบุไว้ว่า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีการโยกย้าย หรือ แต่งตั้ง โดยมิชอบ ก็สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน กับทาง คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ได้

พล.ต.ท.อนุชา รมยะนันทน์ ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ผบช.สง.ก.ตร.) เปิดเผยว่า ขั้นตอนของกฎหมาย ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถยื่นเอกสารร้องเรียนกับทาง ก.ตร. ได้โดยตรง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่า บุคคลที่มาร้องเรียนเป็นใคร และต้องการร้องเรียนผู้ใด 

จากนั้น ก็จะมีการแจ้งให้บุคคลที่ถูกร้องมีการชี้แจง และหากผู้ร้องมีเอกสารร้องเรียนที่ยังไม่เพียงพอต่อการยื่นคำร้อง ก็จะต้องมีการเรียกมาให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมได้ 

ถัดจากนั้น ก็จะรวบรวมและให้ทางนิติกรวิเคราะห์ เพื่อส่งคำร้องให้กับทางคณะกรรมการพิจารณา ว่าเข้าข่ายกระทำการโดยมิชอบหรือไม่ และหากผู้ร้องเป็นระดับ รอง ผบ.ตร. ก็สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้กับทาง ก.ตร. ได้เช่นกัน

ตามกฎหมายของ ก.ตร.ฉบับใหม่ จะต้องมีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.ค.พ.ตร.) เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการรับเรื่องร้องเรียนในครั้งนี้ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานในช่วงประมาณเดือน ตุลาคมนี้ มีทั้งสิ้น 7 คน ซึ่งอาจมีข้อกำหนด หรือ รายละเอียดเพิ่มเติม ในการยื่นเรื่องร้องเรียน 

ภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานแล้ว ทาง ก.ตร.เดิมก็จะหมดหน้าที่ในส่วนนี้ สำหรับข้อกฎหมาย รวมถึงอัตราโทษ ในการยื่นเรื่องร้องเรียนการแต่งตั้ง โยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ที่ประกาศไว้ตามราชกิจจานุเบกษา ในมาตรา 87 ระบุว่า

“ข้าราชการตำรวจผู้ใดเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโส หรือในการแต่งตั้ง ให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ภายใน สามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งแต่งตั้ง คำร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่ง ให้ ก.พ.ค.ตร.พิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องทุกข์ คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ให้เป็นที่สุด"

เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่พอใจในผลการพิจารณาของ ก.พ.ค.ตร. ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผล การพิจารณาของ ก.พ.ค.ตร.

ในกรณีที่ ก.พ.ค.ตร. หรือ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย หรือ พิพากษาว่าในการเรียงลำดับอาวุโส หรือ ในการแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ในการเรียงลำดับ อาวุโส หรือ การแต่งตั้ง ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย และให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษผู้นั้น ตามควรแก่กรณีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก ก.พ.ค.ตร. หรือ นับแต่วันที่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวนอีก แล้วรายงานให้ ก.ตร. ทราบ

“ในกรณีที่ ก.ตร. มีมติว่าการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นการจงใจเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่ง บุคคลใด หรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้น กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจดำเนินการลงโทษผู้นั้น โดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวน”

ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด หรือ แอบอ้างอำนาจของบุคคลใด หรือ เรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด หรือ กระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้ง หรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งใด ไม่ว่าการแต่งตั้ง หรือ ไม่แต่งตั้งนั้นจะชอบด้วยหลักเกณฑ์ ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

 

พระราชบัญญัติ ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๕