นายกฯ เซ็นตั้ง 3 อรหันต์ นั่งกรรมการสอบปมค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” รายงานทุก10วัน

26 ก.ย. 2566 | 12:12 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2566 | 14:20 น.
571

“เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เซ็นตั้งคณะกรรมการสอบกรณีตรวจค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” 3 ราย “ปลัดฉิ่ง-ชาติพงษ์-วินัย" กับคดีเว็บพนัน ตามนโยบายรัฐบาลปราบผู้มีอิทธิพล สั่งรายงานตรงนายกฯทุก 10 วัน กำหนด 30 วัน

(26 ก.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล ตึกบัญชาการ 1 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ ว่าล่าสุดในประเด็นความคืบหน้าของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

โดยคณะกรรมการมี 3 คนประกอบด้วย พลเรือน 2 ราย และอดีตข้าราชการตำรวจ 1 ราย โดยคณะกรรมการนี้ถือเป็นคนนอกไม่มีส่วนได้เสียใน ตร. ปัจจุบัน พร้อมให้กรอบระยะเวลาในการทำงาน 15 วัน โดยในรายละเอียดทาง ตร. จะเป็นคนแถลง

เมื่อถามถึงว่าในเรื่องนี้หนักใจหรือไม่ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ในเรื่องนี้หนักใจอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับความซับซ้อนแต่เป็นเรื่องที่ใหญ่ และเป็นเรื่องที่สาธารณะชนจับตามอง ซึ่งต้องให้ความสบายใจกับประชาชน เพราะถือเป็นเรื่องของความมั่นคง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตามการแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต้องดูว่าจะแต่งตั้งใครโดยยึดหลักของกฎหมาย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่247/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้นบ้านพัก ของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศความว่า

ตามที่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเข้าค้นบ้านพักข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเคหสถานอื่นอีกหลายสิบแห่งในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่ามีข้อมูลเชื่อมโยงเส้นทางการเงินเกี่ยวกับเว็บไซต์การพนันออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.และที่จะดำเนินการต่อเนื่องไป นั้น
 

โดยที่กรณีดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งกระทบกระเทือน ต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขจัดผู้มีอิทธิพล และการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพนันออนไลน์ ให้หมดสิ้นไปอย่างจริงจังสมควรที่สังคมจะมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ตลอดจนพฤติกรรมและพฤติการณ์ของบุคคลผู้เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่ง พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้น บ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย

1.นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ

2.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ

3.พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ

ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ข้อ 2 คณะกรรมการตามข้อ 1 มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าค้นบ้านพักข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 25 ก.ย.และที่จะดำเนินการต่อเนื่องไป แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายในสามสิบวัน

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควรในกรณีที่จำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปอีก ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุกสิบวัน

ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญ หรือประสานขอความร่วมมือ หรือขอเอกสารต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงาน ของรัฐที่ได้รับเชิญหรือขอความร่วมมือ ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโดยถือเป็นลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่สุด

ข้อ 4 ให้คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมตามที่กระทรวงการคลังกำหนด 

คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อพิจารณาศึกษาหรือ ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ โดยให้คณะทำงานได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนดเบี้ยประชุมตามวรรคหนึ่ง และค่าตอบแทนตามวรรคสอง ให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป