“สุริยะ” อุบ รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล 4 หมื่นล้าน ยังไม่เข้าครม.

26 ก.ย. 2566 | 10:39 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2566 | 11:08 น.
1.1 k

คนงามวงศ์วาน ม.เกษตรฯ รอไปก่อน “สุริยะ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี มูลค่ากว่า 4.1 หมื่นล้าน ยังไม่เสนอครม. ขอกลับไปดูรายละเอียดอีกครั้ง

วันนี้ (26 กันยายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กระทรวงคมนาคม ยังไม่ได้เสนอโครงการ รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทางรวม 22.1 กม. มูลค่าลงทุนรวม 41,720 ล้านบาท ให้กับที่ประชุมครม.พิจารณาในครั้งนี้ โดยขอกลับไปดูรายละเอียดอีกครั้ง

ทั้งนี้ที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ค้างมาจากรัฐบาลก่อน ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม ภายในเดือนกันยายน 2566 นี้ และจะเสนอให้ครม.พิจารณาต่อไป

เบื้องต้นประเมินว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เมื่อผ่านการเห็นชอบโครงการจากที่ประชุมครม. แล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้ปลายปี 2567 พร้อมลงนามสัญญาภายในปลายปี 2568 คาดว่า จะเริ่มเวนคืนที่ดินได้ภายในปี 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568-2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2571

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทำรายงานสิ่งแวดล้อม

ส่วนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาได้ภายในปี 2566

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) มีจำนวนสถานี 20 สถานี โดยเป็นสถานียกระดับทั้งหมด ซึ่งมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดของถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าลำสาลี มีโครงสร้างทางวิ่งโครงสร้างทางวิ่งยกระดับสำหรับระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เป็นคานทางวิ่ง ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

โครงข่าวรถไฟฟ้า

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูบริเวณแยกแคราย วิ่งไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน จนถึงแยกบางเขนเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง แล้วข้ามถนนวิภาวดี – รังสิต โดยลอดใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข จนถึงแยกเกษตร 

ก่อนยกระดับข้ามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อวิ่งต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกฉลองรัชเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ยาวไปจนถึงแยกนวมินทร์ ก่อนเลี้ยวลงทางทิศใต้ไปตามแนวถนนนวมินทร์ จนถึงแยกสวนสน ซึ่งเป็นสถานีปลายทางที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเหลืองได้ และเป็นที่ตั้งของอาคารจอดแล้วจร และศูนย์ซ่อมบำรุง

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ยังไม่เสร็จ

ส่วนความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในส่วนของรถไฟสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT นั้น นายสุริยะ ระบุว่า กระทรวงคมนาคมยังไม่เข้าครม.วันนี้ เช่นกัน โดยต้องรอผลประชุมคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่าจะมีการประชุมกัน วันที่ 28-29 กันยายน นี้ เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจึงนำผลการประชุมของ รฟม. และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้ามาพร้อมกัน