เปิดประวัติ “สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์” ซีเอฟโอ บีทีเอส นั่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

15 ก.ย. 2566 | 21:23 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2566 | 21:23 น.
1.3 k

“สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์” ซีเอฟโอ “บีทีเอส” 1 ใน 9 รายชื่อ นั่งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ลุยเดินหน้าร่วมทุน 3 โปรเจ็กต์ยักษ์คมนาคมต่อเนื่อง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จะมีทั้งหมด 9 ราย โดยมีนายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ เป็นที่ปรึกษา 

 

สำหรับคำสั่งดังกล่าว ระบุรายละเอียดว่า เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 
 

นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิดังต่อไปนี้ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ประกอบด้วย

 

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษา
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ
นายพิชัย ชุณหวชิร
นายศุภนิจ จัยวัฒน์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิมล ศรีวิกรม์
นายพิชิต ชื่นบาน
นายชลธิศ สุรัสวดี
นายชัย วัชรงค์
นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์
 

ทั้งนี้ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

 

ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

สำหรับการแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกฯ ครั้งนี้ ปรากฏชื่อของนายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น CFO ของบริษัท BTS Group Holdings Public Company Limited 

 

ที่ผ่านมานายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์  เคยศึกษาในภาควิชาการบัญชี สาขาบัญชีต้นทุน ขณะเรียนอยู่ปี 4 ได้ทำกิจกรรมของคณะในฐานะนายกสโมสรนิสิต 

 

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เริ่มทำงานกับสำนักงานสอบบัญชี Ernst and Young เป็นเวลา 2 ปีกว่า หลังจากนั้นได้ทุนฯจากธนาคารกรุงเทพไปเรียนต่อที่ University of Michigan ann arbor, USA

 

ทั้งนี้เมื่อเรียนจบแล้วนายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ได้กลับมาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพเป็นเวลา 13 ปี ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน รวมทั้งการวางกลยุทธ์ต่างๆ 

 

สำหรับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ปัจจุบันมีธุรกิจด้านคมนาคมที่อยู่ระหว่างการบริหารรถไฟฟ้าสายสำคัญ 2 สายทางคือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงเคหะสมุทรปราการ - คูคตและช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า และรถไฟฟ้าสายสีทองช่วงกรุงธนบุรี – คลองสาน และมีโครงการร่วมลงทุนอีก 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาท ในนาม บจ. อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) ร่วมกับบมจ. การบินกรุงเทพ (บางกอกแอร์เวย์ส) และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON)

 

2.โครงการลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 21,329 ล้านบาท และมอเตอ์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 17,809 ล้านบาท ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR 6 และกิจการร่วมค้า BGSR 81 ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH)

 

3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย - มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว - สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงินลงทุน 45,797 ล้านบาท ในนามกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป