รู้จัก รัศม์ ชาลีจันทร์  “ทูตนอกแถว” สู่ที่ปรึกษารมช.ต่างประเทศ

14 ก.ย. 2566 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 08:12 น.
3.6 k

จากการประชุมครม.นัดแรก 13 ก.ย. 2566 มีมติแต่งตั้งนายรัศม์ ชาลีจันทร์ เป็นที่ปรึกษา รมช.กระทรวงการต่างประเทศ ประวัติท่านผู้นี้ไม่ธรรมดา นอกจากจะเป็นอดีตนักการทูตที่เกิดมาในครอบครัวนักการทูตแล้ว ยังเป็นผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก “ทูตนอกแถว” ที่บ่งบอกตัวตนอย่างตรงไปตรงมา

 

รัศม์ ชาลีจันทร์ หรือ “ทูตรัศม์” ที่หลายคนติดปากเรียกเช่นนั้น เป็นอดีตข้าราชการ กระทรวงการต่างประเทศ และเป็นอดีตเอกอัครราชทูตในหลายประเทศรวมทั้งโมซัมบิกและคาซัคสถาน หลายคนรู้จักทูตรัศม์ในฐานะผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador ที่บอกเล่าประสบการณ์ชีวิต การทำงาน ประสบการณ์การท่องเที่ยวในต่างแดน และบ่อยครั้งแฟนเพจก็ได้เห็นโพสต์แสดงทัศนะที่เผ็ดร้อนทางการเมืองรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองไทยหรือการเมืองระหว่างประเทศ

ทูตรัศม์เกิดในปีพ.ศ. 2503 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรของนายมนตรี ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และดร.ธิดา ชาลีจันทร์ อาจารย์สอนนิติศาสตร์ ทั้งยังเป็นหลานปู่ของพันเอกหลวงชาญสงคราม (กฤษณ์ ชาลีจันทร์) หนึ่งในคณะราษฎรสายทหารบก

รัศม์ ชาลีจันทร์ หรือ “ทูตรัศม์” ที่หลายคนติดปากเรียกเช่นนั้น อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำโมซัมบิกและคาซัคสถาน

การศึกษา เรียนประถม-ม.ต้น ที่ประเทศออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ ม.ปลาย ร.ร.สาธิตมศว. ปทุมวัน และปริญญาตรีรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย

ทูตรัศม์เคยให้สัมภาษณ์สื่อเอาไว้ว่า แม้จะเกิดในครอบครัวนักการทูต และเลือกเรียนรัฐศาสตร์ แต่ใจจริงอยากเป็นนักดนตรี อยากเป็นนักแต่งเพลง แม้ปัจจุบัน ก็ยังคงเล่นดนตรี (กีตาร์ไฟฟ้า) แต่งเพลง ร้องเพลง โดยแนวหลักๆที่ชอบคือเพลงบลูส์ พอเรียนจบรัฐศาสตร์ก็สอบเป็นนักการทูตในปี 2527 ในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกษียณอายุราชการที่ตำแหน่งอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำคาซัคสถาน ก่อนหน้านั้น เขาเป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกของโมซัมบิก

หลังเกษียณอายุราชการ ได้เปิดเพจทูตนอกแถว The Alternative Ambassador เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยเริ่มจากการเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวและพัฒนาขึ้นมาเป็นเพจที่เผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบของการเล่าเรื่องและแบ่งปันประสบการณ์ทางด้านการทูต การต่างประเทศ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ อาหารและดนตรี รวมถึงการแสดงทัศนะในประเด็นทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนให้ผู้ติดตาม ( ณ ปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจ 2.7 หมื่นคน ภายใต้ชื่อเพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns) สามารถมองเห็นและทำความเข้าใจแง่มุมอื่นของอาชีพนักการทูตที่อาจมีผู้สนใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

ในมาดนักดนตรี ที่ปัจจุบันก็ยังคงเล่นดนตรี แต่งเพลงและร้องเพลงอยู่ (ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊กทูตนอกแถวฯ)

ที่มาของชื่อ “ทูตนอกแถว” นั้น สะท้อนบุคลิกลักษณะส่วนตัวของผู้จัดทำเพจอย่าง รัศม์ ชาลีจันทร์ ซึ่งเป็นคนที่ขยันตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยเฉพาะเมื่อได้ทำงานเป็นนักการทูตจึงต้องมีทักษะและวิจารณญาณในการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบด้าน ทั้งยังมีเป้าหมายเพื่อต้องการแสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองอย่างอิสระ ซึ่งแม้ได้เคยรับราชการมาเป็นเวลานาน แต่ความคิดเห็นอาจไม่ได้เป็นไปตามแนวโน้มของข้าราชการส่วนใหญ่ในกระทรวงการต่างประเทศ อีกทั้งไม่ต้องการให้มีความเข้าใจผิดว่าหน่วยงานที่เคยเป็นต้นสังกัดอย่างกระทรวงการต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการแสดงความคิดเห็นของตนเอง

นอกจากการแสดงความเห็นและเผยแพร่เกร็ดความรู้ต่าง ๆ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กแล้ว “ทูตนอกแถว” หรือ รัศม์ ชาลีจันทร์ ยังได้รับความสนใจอย่างมากจากวาทะ “ผู้ปกป้องอธิปไตยประเทศในรอบร้อยปีมานี้ คือนักการทูตไม่ใช่ทหาร” ที่ทำให้ได้รับความสนใจจากสื่อสังคมออนไลน์ในวงกว้าง

บางครั้ง เขายังใช้เวลาว่างกับการไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ โดยเคยไปร่วมสังเกตการณ์ม็อบนักศึกษา รวมทั้งการขึ้นปราศรัยให้กำลังใจผู้ชุมนุมในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 การร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎรและเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญจากสื่อมวลชนในการให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น การวิจารณ์ท่าทีของรัฐบาลไทยและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่อการรัฐประหารในเมียนมา ที่ทูตรัศม์ให้ความเห็นว่า การเกิดรัฐประหารทั้งที่ประเทศไทยและเมียนมาทำให้สถานะของอาเซียนในเวทีโลกมีแนวโน้มจะตกต่ำลง อีกทั้งการเกิดรัฐประหารจากกองทัพที่ไม่มีวินัยและไม่ได้เป็นทหารอาชีพ จะเป็นตัวบั่นทอนความเจริญเติบโตของประเทศ ดังนั้น การทำให้ประเทศไม่มีการรัฐประหารและการปฏิรูปกองทัพจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประเทศเจริญเติบโตและพัฒนาได้อย่างจริงจัง เป็นต้น

ที่มาของชื่อ “ทูตนอกแถว” นั้น สะท้อนบุคลิกส่วนตัวซึ่งเป็นคนที่ขยันตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองอย่างอิสระ  (ขอบคุณภาพจากสปริงนิวส์)

นอกจากนี้แล้ว ทูตรัศม์ยังมีการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางสังคมการเมืองอื่น ๆ เช่น ปรากฏการณ์ย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่ และประเทศไทยภายใต้สภาวะไม่เป็นประชาธิปไตยในสายตาต่างชาติ ความเห็นเกี่ยวกับการจัดการวัคซีนของรัฐบาล รวมทั้งตั้งคำถามต่อเหล่านักการทูตในการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งก็คือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

รวมไปถึง ความหวังที่จะมีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนบนกติกาที่เที่ยงธรรมและสุจริต โดยเฉพาะการเน้นย้ำว่าการต่างประเทศจะไม่พัฒนา ถ้าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า / เพจทูตนอกแถวThe Alternative Ambassador Returns