ส.ส. ก้าวไกลจี้ สสส. แจงงบ4,500ล้านใช้โครงการไหน เหมาะสมหรือไม่

08 ก.ย. 2566 | 12:45 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2566 | 12:45 น.

ส.ส. ก้าวไกลจี้ สสส. แจงงบ4,500ล้านใช้โครงการไหน เหมาะสมหรือไม่ ระบุทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ตัวชี้วัดไม่ชัดเจน ขาดความโปร่งใส และใช้ข้อมูลไม่เป็นกลาง ชี้อัตราผู้สูบบุหรี่และดื่มสุราพลาดเป้า

นายปรีติ เจริญศิลป์ สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดนนทบุรี เขต5 เปิดเผยถึงประเด็นการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลการใช้งบประมาณของ สสส. พบว่า 1 ปี จะมีงบประมาณที่เรียกว่า Earmarked Tax ซึ่งเป็นการเก็บเพิ่มจากภาษีสรรพสามิตที่ภาครัฐจัดเก็บไปแล้ว 2% จากสุราและยาสูบ

ทั้งนี้ เท่าที่เห็นข้อมูลในภาพรวม ปัจจุบันมีข้อมูลการสูบบุหรี่ที่ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากปี 60 ที่ 10.7 ล้านคน ปี 64 เหลือ 9.9 ล้านคน แต่ผลสำรวจขององค์กรอนามัยโลกได้สำรวจสุขภาวะของนักเรียนไทย มีการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น จากปี 2558 จาก 13.8% เป็น 14.40% ในปี 2564 และมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 13.6% ส่วนอัตราการดื่มสุรามีแนวโน้มค่อนข้างคงที่

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการบริโภคยาสูบไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ท่านก็แบนมาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยเท่าที่ดูจากข้อมูล  สสส. อาจจะหมายถึง ซ้ำซ้อน ไม่โปร่งใส ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ใน 3 ได้แก่ 

มีความซ้ำซ้อนในการกำหนดตัวชี้วัดและผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานมาก โดยที่บอกว่าเป็นผู้ประสานงาน เป็นผู้เสริมพลัง เชื่อมการทำงาน ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนด้านต่าง ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณ 4,500 ล้านบาทต่อปีแล้วเหมาะสมหรือไม่กับภารกิจงานแบบนี้ 

นายปรีติ ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายในแผนการลดการสูบบุหรี่สำหรับสสส. ด้วยว่า เป้าหมายในแผนการลดการสูบบุหรี่ตามแผนยุทธศาสตร์นั้นถือว่าพลาดเป้า โดยขององค์กรอนามัยโลกที่จะให้มีการลดเป็น 14.7% ในปี 2565 ก็ม่สำเร็จ ซึ่งในรายงานของสสส.เท่าที่ติดตามข้อมูล ไม่ได้กล่าวถึงเป้าหมายการลดผู้สูบบุหรี่ แต่ระบุุึงการดำเนินงานกิจกรรมเชิงพื้นที่มากกว่า จึงไม่แน่ใจว่าอะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จของสสส. 

ส.ส. ก้าวไกลจี้ สสส. แจงงบ4,500ล้านใช้โครงการไหน เหมาะสมหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมองว่าทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นอีกหลายหน่วยงาน โดยในหลายโครงการที่ระบุว่าเป็นผลงานของ สสส. นโยบายสถานศึกษาปลอดบุหรี่ ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และกัญชา หรือความสำเร็จในเรื่องจังหวัดควบคุมยาสูบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งที่หลายอย่างมาจากการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข จึงไม่แน่ใจว่าผลงานการเคลมผลงานที่เป็นของหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบอยู่แล้วถูกต้องหรือไม่

ด้านความโปร่งใสเท่าที่ได้เห็นงบประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งใช้ไปกับ 3,482 โครงการ มีทั้งเป็นโครงการใหม่ แล้วก็มีภาคีเครือข่าย แต่ในรายงานไม่ได้ระบุว่าโครงการเหล่านี้ไปให้ใครบ้าง หน่วยงานไหนบ้าง ระบุแต่ภาพกว้างจึงเป็นข้อสงสัย ดังนั้นมองว่าควรต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด โดยต้องการทราบว่าทุกปีมีหน่วยงานไหนบ้างที่ได้ติดต่อกัน 20 ปีที่ผ่านมา

“เมื่อไปดูสัดส่วนการใช้งบประมาณ มีการสนับสนุนงบประมาณด้านแผนเพื่อการควบคุมยาสูบเพียง 313 ล้านบาท และแผนการลดการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติดเพียง 332 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับ ทั้งที่ยาสูบคือปัญหาสำคัญ สุราและยาสูบคร่าชีวิตคนไทยไปกว่า 80,000 คนต่อปี ในรายงานระบุถึงการกระจายกองทุน ส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ถึง 1,199 ล้านบาท ซึ่ไม่ทราบว่าเป็นหน่วยงานไหนบ้าง ควรเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ”
 

นอกจากนี้ข้อมูลยังไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้อ้างอิงจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขในประเทศชั้นนำของโลก ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่ปกติ 

ในสหรัฐอเมริกามีการวิจัยว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีการเผาไหม้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป แคนาดาและนิวซีแลนด์สนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนเป็นบุหรี่ไฟฟ้าแทน แต่สิ่งที่ สสส. ทำคือให้มีการคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้า เหมือนเป็นการปิดกั้นสิ่งที่อันตรายน้อยกว่าให้กับผู้บริโภค 

อย่างไรก็ตาม เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าหากมีการรณรงค์ให้มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่ในอินเตอร์เน็ตมีขายมากมาย ผลกระทบยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตรในหมวดบุหรี่ลดลงกว่า 4,416 ล้านบาทต่อปีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายที่ สสส. ได้สนับสนุนไปในเรื่องการแบนบุหรี่ไฟฟ้า


“วันนี้ 4,500 ล้านบาทต่อปี งบประมาณ Earmarked Tax ที่ไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาจัดสรรของรัฐสภาที่มาจากประชาชน สสส.ควรต้องชี้แจงให้รายละเอียดว่าใช้งบประมาณไปกับอะไร ตัวชี้วัดความสำเร็จคืออะไร เชื่อว่ามีเจตนาดีที่ต้องการให้ประเทศไทย คนไทย มีสุขภาวะที่ดี แต่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับเปลี่ยนมุมมอง ให้สอดคล้องกับสังคมและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป”