ส่องแนวทางควบคุม "บุหรี่ไฟฟ้า" ไทย-แคนาดา แบบไหนมีประสิทธิภาพ

04 ส.ค. 2566 | 21:49 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2566 | 21:49 น.

ส่องแนวทางควบคุม "บุหรี่ไฟฟ้า" ไทย-แคนาดา แบบไหนมีประสิทธิภาพ หลังกแนวทางการแบนบุหรี่ไฟฟ้าของไทยขัดกับแนวทางของหลายประเทศทั่วโลก ระบุการแบนอาจทำให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนได้อย่างง่าย

จากกระแสครูพบบุหรี่ไฟฟ้าขายเกลื่อนในราคาเพียงอันละ 15 บาท ซึ่งมุ่งขายในกลุ่มเด็กนักเรียนนั้น ทำให้ประชาชนต่างตั้งคำถามว่า การแบนบุหรี่ไฟฟ้าสามารถแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนได้จริงหรือไม่ เนื่องจากแนวทางการแบนบุหรี่ไฟฟ้าของไทยขัดกับแนวทางของหลายประเทศทั่วโลกที่ให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายพร้อมสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพพร้อมทั้งป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนอย่างเข้มงวด เช่น ประเทศแคนาดาที่อนุญาตให้การซื้อขายและบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 

และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานสาธารณสุขแคนาดาได้อัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในเว็บไซต์ทางการ พร้อมเผยแพร่ข้อมูลในแง่ของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ ความเสี่ยงจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ชัดเจน ครบถ้วน และนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น 

เมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของหน่วยงานสาธารณสุขหลายประเทศทั่วโลก นานาชาติต่างก็หันมาสนับสนุนและให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร หรือแคนาดา ที่นอกจากจะให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายแล้ว ยังสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าผ่านการให้ข้อมูล แคมเปญ และการจัดสรรงบประมาณอีกด้วย 

 

ล่าสุดเว็บไซต์ทางการของแคนาดาได้อัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งระบุรายละเอียดในการควบคุมบรรจุภัณฑ์ การโปรโมทสินค้า ปริมาณนิโคติน และการรายงานยอดขายและส่วนประกอบ

นอกจากนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวยังเผยแพร่ข้อมูลในแง่อื่นๆเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ ความเสี่ยงจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า การป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน 

รวมถึงข้อปฎิบัติเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยใจความสำคัญของเนื้อหาระบุว่าสำหรับผู้สูบบุหรี่ การเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวนต่อไป แต่เด็กและเยาวชนที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่ควรใช้บุหรี่ไฟฟ้าเนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปราศจากอันตรายโดยสิ้นเชิง 

ในแง่ของการป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกังวลหลักที่ทำให้ประเทศไทยยังคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไว้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 นอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว หน่วยงานสาธารณสุขแคนาดาก็ได้จัดทำและเผยแพร่สื่อเพื่อเพิ่มการรับรู้และความเข้าใจสำหรับสื่อสารกับเด็กและผู้ปกครองโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสำหรับโซเชียลมีเดีย และวีดีโอ 

จะเห็นได้ว่า การทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายนั้นนำมาซึ่งความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายและการเผยแพร่ชุดข้อมูลที่มีหลักฐานสนับสนุนแก่ผู้สูบบุหรี่ เพื่อมอบทางเลือกให้แก่ผู้สูบบุหรี่ขณะที่ป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงไปพร้อมๆกัน 

ขณะที่การแบนบุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนได้อย่างง่ายดายและไม่สามารถควบคุมได้ ประเทศไทยอาจถึงเวลาพิจารณานำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาควบคุมให้ถูกกฎหมายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังเช่นที่หลายประเทศทั่วโลกทำกัน เพราะการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้สูบบุหรี่กว่า 9.9 ล้านคน สามารถทำควบคู่ไปกับการปกป้องเด็กและเยาวชนได้