ผ่าปัญหา “บุหรี่ไฟฟ้า” กระทบสุขภาพเยาวชนไทย แก้ยังไงให้เห็นผล

22 มิ.ย. 2566 | 07:20 น.
867

ผ่าปัญหา “บุหรี่ไฟฟ้า” กับเยาวชนไทย ปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ และขีดความสามารถทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต สศช.เปิดแนวทางการดูแลแก้ไข พร้อมข้อแนะนำเป็นตัวอย่างให้ภาคส่วนต่าง ๆ รับไปผลักดัน

สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 2566 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นทางด้านสุขภาพ หลังพบว่าเยาวชนไทยยังเป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

สศช. ระบุข้อมูลว่า ปัจจุบันมีประเด็นเกี่ยวกับการโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าที่มุ่งเป้าการตลาดไปยังเด็กและเยาวชน แม้ว่าปัจจุบันจะมีการบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ แต่ยังพบการลักลอบจำหน่าย และการโฆษณาทางออนไลน์อยู่เสมอ 

รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย พกพาง่าย ยากต่อการตรวจจับ เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มเด็กและเยาวชน ทำให้รู้สึกว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นมิตรมากกว่าภัย

เด็กเห็นโฆษณา “บุหรี่ไฟฟ้า” บ่อยขึ้น

ที่ผ่านมาผลการสำรวจพฤติกรรมการซื้อและโฆษณาเหล้าบุหรี่ออนไลน์ของบริษัทวิจัยการตลาด Vitamins Consulting and Research ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็น เป้าหมายการโฆษณา และมีความถี่การเห็นโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่ 9.48 ครั้งต่อเดือน โดยเฉพาะวัยรุ่นชายเป็นกลุ่มที่ เห็นโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุดอยู่ที่ 11.3 ครั้งต่อเดือน 

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมดูแล 10 สื่อโฆษณาออนไลน์ให้มีความเหมาะสม รู้เท่าทันการตลาดของกลุ่มสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ ส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้ เด็กและเยาวชนตระหนักรู้ถึงผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งเสริมสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ครอบครัวที่เป็นสถาบันขั้นพื้นฐานด้วย

 

ภาพประกอบข่าวปัญหา “บุหรี่ไฟฟ้า” กับเยาวชนไทย ปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ

เปิดปัญหาบุหรี่หนีภาษีบนออนไลน์

สศช. ยังชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและดำเนินการในระยะถัดไป อีกเรื่องคือ การเร่งปราบปรามบุหรี่หนีภาษีบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีการแพร่ระบาดมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการขายที่ถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมาย สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่าย และยังยากต่อการตรวจสอบ

โดยจากข้อมูลสถิติการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายของกรมสรรพสามิต พบว่า ในเดือนตุลาคม 2564 –สิงหาคม 2565 มีการจับกุมคดีบุหรี่หนีภาษีมากถึง 8,534 คดี จำนวน 3.3 ล้านซอง คิดเป็น ค่าปรับ 230.48 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 ถึง 32%

ขณะเดียวกันจากข้อมูลสำรวจการสนทนาในโลกออนไลน์ของสมาคมการค้ายาสูบไทย พบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม -กันยายน 2565 มีการสนทนาเพื่อซื้อ - ขายบุหรี่ หนีภาษีอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะใน Twitter ที่มีความเคลื่อนไหวมากถึง 91% รองลงมาคือ Facebook 9% และเว็บบอร์ด 1% ตามลำดับ

โดยบุหรี่หนีภาษีนอกจากจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีของรัฐแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อร้านค้าที่ขายบุหรี่อย่างถูกกฎหมายด้วย แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่ห้ามไม่ให้มีการแสดงราคา ณ จุดขาย รวมทั้งห้ามไม่ให้มีการจัดโปรโมชั่นลดราคา เนื่องจากจะเป็นการจูงใจให้บริโภค 

แต่การขายออนไลน์สามารถลักลอบท่าได้ง่าย ทั้งยังไม่สามารถตรวจสอบอายุของผู้ซื้อได้ ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและอาจส่งผลให้มีการสูบบุหรี่มากขึ้น 
ดังนั้น จำเป็นต้องมีการเร่งปราบปรามการขายบุหรี่หนีภาษีบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้มากขึ้น เช่นเดียวกับมีการควบคุมและตรวจสอบปัญหาตั้งแต่ต้นทางที่มี การลักลอบนำบุหรี่หนีภาษีเข้ามาในประเทศ

 

ภาพประกอบข่าวปัญหา “บุหรี่ไฟฟ้า” กับเยาวชนไทย ปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ

แนะรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่ถูกต้อง

สศช. ยังเคยเสนอแนะด้วยว่า ปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่ถูกต้อง และสร้างการตระหนักถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการให้ข้อมูลผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพเป็นระยะ แต่ยังพบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้องนัก

โดยผลสำรวจของของสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) เกี่ยวกับทัศนคติของเด็กและเยาวชนไทยที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้า และสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยกับการรับข้อมูลและวาทกรรมสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ในปี 2565 พบว่า เด็กและเยาวชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

โดย 38.5% ของกลุ่มตัวอย่าง มีการรับรู้วาทกรรมที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่แบบมวน เนื่องจากสามารถเลือกปริมาณนิโคตินเองได้ อีกทั้งผลสำรวจยังพบว่า เด็กและเยาวชนในกลุ่มตัวอย่างกว่า 72% มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเพียงในระดับปานกลาง ขณะที่อีก 19% ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า 

นอกจากนี้ ผลการศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอื่น ๆ และติดตามผลต่อเนื่อง 12 เดือน ในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของประเทศไทย จำนวน 6,045 ราย ยังพบว่า เด็กที่เริ่มต้นสูบบุหรี่โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างแรก มีแนวโน้มจะสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า 

ปัจจุบันยังพบด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีรูปแบบที่สวยงาม มีรสชาติที่หลากหลาย และสามารถพกพาง่าย จึงเกิดเป็นกระแสนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะผู้หญิงมาลองใช้มากขึ้นอีกด้วย 

 

ภาพประกอบข่าวปัญหา “บุหรี่ไฟฟ้า” กับเยาวชนไทย ปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ

 

ผลกระทบทางด้านสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า

งานวิจัยจำนวนมากระบุถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งต่อผู้สูบและผู้อื่น ทั้ง ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองล้า ที่อาจรุนแรงถึงขั้นภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร โดยมีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นในผู้สูบที่มีอายุน้อย ขณะเดียวกันยังเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคอื่นอีกด้วย 

ล่าสุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรง หรือ อิวาลี (EVALI) จากสารเคมีและโลหะหนักในควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งจะมีโอกาสพบได้น้อยกว่าในผู้ที่สูบบุหรี่มวน 

โดยโรคดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว รวมถึงอาการทางระบบทางเดินอาหาร และจากการรวบรวมข้อมูล พบคนไทยเป็นโรคอิวาลีและมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้น

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยบูรณาการความร่วมมือกับสถานศึกษาในการเผยแพร่ความรู้หรือส่งเสริมการจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันการสูบบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า 

การสร้างการตระหนักรู้ถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าผ่าน Influencer และ Social media ทุกแพลตฟอร์ม อันจะเป็นการลดโอกาสในการทดลองสูบและนำไปสู่การเป็นนักสูบหน้าใหม่ต่อไป รวมถึงจะต้องเร่งดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยังเป็นสินค้าผิดกฎหมายในประเทศไทยอย่างจริงจังและเข้มงวด ซึ่งปัจจุบันสามารถหาซื้อในง่ายตามท้องตลาด ตลาดนัดกลางคืน แพลตฟอร์ม ออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น