ประเด็นร้อน 22 ส.ค. โหวตนายกฯ-ทักษิณกลับไทย-พิพากษาคดีทุจริตโรงพัก

19 ส.ค. 2566 | 13:11 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2566 | 13:11 น.
594

22 ส.ค. 66 ถือได้ว่าเป็นวันที่มีประเด็นร้อนการเมืองหลายเรื่องทั้งการเดินทางกลับไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” การประชุมรัฐสภา “โหวตเลือกนายกฯรอบ 3” และการพิพากษาคดี “สุเทพ-พวก ทุจริตก่อสร้างโรงพัก”

ไทม์ไลน์ประเด็นร้อนการเมืองในวันที่ 22 ส.ค. 66 มีเรื่องที่ต้องจับตาอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกัน ไล่เรียงไปตั้งแต่ "การเดินทางกลับไทยของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ" ต่อด้วยการประชุมรัฐสภา "โหวตเลือกนายกฯ" คนที่ 30 โดยพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน ให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ และการพิพากษาคดี ของ "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ-พวก ในคดีทุจริตก่อสร้างโรงพัก" ฐานเศรษฐกิจ สรุปให้ ดังนี้

เวลา 9.00 น. ทักษิณ กลับไทย 

หลังการประกาศผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว "ingshin21" นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย โดยระบุเนื้อหาว่า

"อังคารที่ 22 สิงหาคม 9.00 น. ณ ดอนเมือง จะไปรับคุณพ่อทักษิณค่ะ" ต่อมา น.ส.แพทองธาร ยังได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์อีกครั้งว่า 

"เลื่อน" ไม่ได้ "ยกเลิก" ไม่เพ้อเจ้อนะจ๊ะ

โดยขั้นตอนการเดินทางกลับของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในขั้นตอนแรกทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะมอบหมายให้ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) เป็นผู้รับตัว และทำบันทึกการจับกุมตามขั้นตอนของกฎหมาย

ก่อนส่งตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ให้กับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ คุมตัวขึ้นรถ และนำตัวไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญา (สนามหลวง) เพื่อดำเนินการต่อไป

เวลา 10.00 น. ประชุมสภาโหวตนายกฯ รอบ 3

หลังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ออกมา ระบุ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยมติที่ประชุมรัฐสภาห้ามเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำในสมัยประชุมเดียวกันนั้น ถือว่า สิ่งที่รัฐสภาได้ประชุมไปแล้วนั้นถือว่าปฏิบัติได้

โดยการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค. 66 จะเริ่มเวลา 10.00 น. มีกรอบระยะเวลาการอภิปรายเกี่ยวกับ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาไม่เกิน 5 ชม. แบ่งเป็น ส.ว. 2 ชม. และ ส.ส. ไม่เกิน 3 ชม. พร้อมลงมติไม่เกินเวลา15.00 น. โดยคาดว่า 17.30 น. น่าจะเสร็จสิ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยประธานฝ่ายกฎหมายของสภาได้นำเสนอว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ อีกทั้งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ก็ไม่มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อ จะต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ 

ประกอบกับที่ประชุมของ คณะกรรมาธิการในการร่างข้อบังคับรัฐสภาปี 2563 มีการแสดงเจตนารมณ์ว่า ไม่ต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์

ซึ่งรายละเอียด มีในบันทึกการประชุมเมื่อ 19 ก.ค. 63 และมีมติของที่ประชุมเมื่อ 24 ก.ค. 63 สมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นประธานในที่ประชุม ดังนั้นประธานรัฐสภาก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนการเสนอญัตติด่วนที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาของ นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ที่ให้มีการทบทวนมติที่ประชุมเมื่อ 19 ก.ค. 66 เรื่องเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้นายรังสิมันต์ ได้แสดงเจตนารมณ์ ถึงการเสนอญัตติ แต่ก็เห็นว่าตามข้อบังคับที่ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้

ด้านนายรังสิมันต์ ยืนยันที่จะเสนอ พิจารณาให้ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 สิงหาคม พิจารณาวาระดังกล่าว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัย คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน อ้างเป็นเหตุผลทางเทคนิค โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาสาระของคำร้องเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นสภาฯ จึงสามารถทบทวนมติดังกล่าวนี้ได้

เวลา 10.00 น. ศาลฎีกาฯนักการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาคดี สุเทพ-พวก ทุจริตก่อสร้างโรงพัก

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกา อม.) ศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อม.อธ.11/2565 ที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ย.65 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ยกฟ้องจำเลยทั้ง 6 ต่อมา ป.ป.ช. โจทก์ยื่นอุทธรณ์คดีต่อ ก่อนที่จะนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 22 ส.ค.นี้

สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.โจทก์ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิ.ย. 52 ถึง 18 เม.ย. 56 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว 

จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคาไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา

ต่อมาจำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่1, 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

ลงโทษจำเลยที่ 3, 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 12 กับลงโทษจำเลยที่5, 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด