มติวิป 3 ฝ่าย เคาะ "โหวตนายกฯรอบ3" 22 ส.ค. 66 ให้เวลาส.ส.-ส.ว.อภิปราย 5 ชม.

18 ส.ค. 2566 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2566 | 14:10 น.

"วันมูหะมัดนอร์ มะทา" เผยมติวิป 3 ฝ่าย เคาะกรอบเวลาโหวตเลือกนายกฯ 22 ส.ค. นี้ ให้ สส.-สว. อภิปราย 5 ชั่วโมง คาดลงมติบ่าย 3 ชี้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ เพราะ รธน. ไม่ได้กำหนดไว้ 

วันที่ 18 ส.ค. 66 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดหมายตัวแทนวิป 3 ฝ่ายหารือ ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา และตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. 66 หรือ โหวตเลือกนายกฯรอบ 3 

หลังการหารือ 2 ชั่วโมง นายวันมูหะมัดนอร์ เปิดเผยว่า การประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค. จะเริ่มเวลา 10.00 น. โดยกรอบระยะเวลาการอภิปรายเกี่ยวกับ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯรัฐมนตรี ใช้เวลาไม่เกิน 5 ชม. แบ่งเป็น สว. 2 ชม. และ สส.  ไม่เกิน 3 ชม. พร้อมลงมติไม่เกินเวลา 15.00 น. โดยคาดว่า 17.30 น. ก็คงจะเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยประธานฝ่ายกฎหมายของสภาได้นำเสนอว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ อีกทั้งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ก็ไม่มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อ จะต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ 

ประกอบกับที่ประชุมของ คณะกรรมาธิการในการร่างข้อบังคับรัฐสภาปี 2563 มีการแสดงเจตนารมณ์ว่า ไม่ต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งรายละเอียด มีในบันทึกการประชุมเมื่อ 19 ก.ค. 63 และมีมติของที่ประชุมเมื่อ 24 ก.ค. 63 สมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นประธานในที่ประชุม ดังนั้นประธานรัฐสภาก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนการเสนอญัตติด่วนที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาของ นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ที่ให้มีการทบทวนมติที่ประชุมเมื่อ 19 ก.ค. 66 เรื่องเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้นายรังสิมันต์ ได้แสดงเจตนารมณ์ ถึงการเสนอญัตติ แต่ก็เห็นว่าตามข้อบังคับที่ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้ เพราะหากมีการทบทวนจะเกิดปัญหา ว่ามติของสภาที่ออกไปสามารถทบทวนได้เรื่อยๆ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในการลงมติและมีปัญหา

ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าให้ใช้อำนาจของประธานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 และข้อบังคับข้อที่ 5 และ 151 ประกอบ คือไม่รับว่าเป็นญัตติด่วน แต่นำเสนอได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อญัตติที่ลงไปแล้ว และญัตติอื่นที่มีการทบทวนก็จะเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้บอกว่าต้องทบทวนในสิ่งที่พิจารณาไปแล้ว ดังนั้นก็จะดำเนินการตามนี้

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

“รังสิมันต์” ยันเดินหน้าญัตติทบทวนมติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อนายกซ้ำ

 

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวก่อนการประชุมวิป 3 ฝ่ายถึงญัตติที่จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภา ทบทวนการลงมติวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ยังค้างอยู่ในวาระการประชุมว่า พรรคก้าวไกลยังยืนยันที่จะเสนอ พิจารณาให้ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 สิงหาคม พิจารณาวาระดังกล่าว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัย คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน อ้างเป็นเหตุผลทางเทคนิค โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาสาระของคำร้องเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นสภาฯ จึงสามารถทบทวนมติดังกล่าวนี้ได้

วันนี้ในการประชุมวิป 3 ฝ่าย จึงจะเสนอประธานรัฐสภาให้พิจารณาวาระดังกล่าว โดยกำหนดกรอบเวลาได้ เพื่อให้รัฐสภาทบทวนบางสิ่งที่อาจทำผิดพลาดไป ส่วนตัวหวังให้การโหวตชนะ แต่สุดท้ายเราไม่ใช่คนตัดสินต้องดูหน้างาน แต่ขอว่าอย่าเผาบ้านไล่หนู เพราะถ้าเราทำลายหลักการไปแล้วเป็นบรรทัดฐานถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการเสนอชื่อบุคคลไม่ใช่มีแค่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังมีอีกหลายตำแหน่ง ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็พร้อมที่จะน้อมรับ และคงไม่มีการเสนอญัตติซ้ำเนื่องจากทำไม่ได้ตามกฏหมาย จึงต้องยอมรับว่าในสมัยการประชุมนี้บรรทัดฐานเป็นแบบนี้ 

ทั้งนี้หากมติออกมาในลักษณะเดิม จะเป็นการตอกย้ำว่า พรรคก้าวไกลจะต้องกลายไปเป็นฝ่ายค้านใช่หรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะเกิดขึ้นเมื่อมีรัฐบาล ตอนนี้ต้องดูว่ารัฐบาลจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติประกาศจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกล ยังไม่ได้มีการหารือในเรื่องนี้ แต่คงจะต้องมีการประชุมกัน 

ส่วนจุดยืนของพรรคก้าวไกลนั้น ยังคงเหมือนเดิม คือไม่ให้คะแนนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เพราะเรายืนยันมาตลอดว่า “มีลุงไม่มีเรา” เป็นสัญญาสำคัญที่ให้ไว้กับประชาชนและไม่อาจลืมได้ และย้ำว่า พรรคยังไม่ได้มีการประชุมถึงทิศทางในวันโหวต และยังไม่มีความคิดในเรื่องวอล์คเอาท์ แต่น่าจะเป็นการร่วมประชุมในกลไกตามปกติ 

พร้อมกันนี้นายรังสิมันต์ ยังกล่าวว่า พรรคก้าวไกลยังไม่มีวาระหารือในประเด็นของรองประธานสภาคนที่ 1 และไม่ทราบว่ามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องหารือในประเด็นดังกล่าวนี้ แต่หากจะต้องมีการหารือคงจะไม่จำเป็นต้องเกิดในช่วงเวลานี้ เพราะเป็นเรื่องที่ใช้เวลาพิจารณาไม่นาน ไม่มีกระบวนการอะไรมาก 

พร้อมยอมรับว่า หลังพรรค2 ลุงประกาศร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สส.ของพรรคก้าวไกลได้รับความรู้สึกผิดหวังจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และเราก็รู้สึกแบบเดียวกันว่าประเทศของเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เราอยู่แบบเดิมเพิ่มเติมคือพรรคที่น่าจะเป็นพันธมิตรของเรา แต่เราต้องมูฟออนเพื่อทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนการทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยในอนาคตนั้น น่าจะเป็นไปตามกลไกของรัฐสภา เพราะวันนี้พรรคก้าวไกลเสนอกฎหมายไปหลายฉบับจึงจำเป็นที่จะต้องขอเสียงจากทุกฝ่าย ดังนั้นต้องว่ากันไปเป็นเรื่องๆ แต่ทุกเรื่องล้วนเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งนั้น 

ส่วนจะทวงถามนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรื่องจะลาออกหรือไม่หลังจากดึงพรรค 2 ลุง เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล นายรังสิมันต์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่นั้น เพราะเป็นเรื่องภายในของพรรคเพื่อไทย และเป็นเรื่อง ของพี่น้องประชาชนที่สนับสนุน พรรคก้าวไกลแค่ทำหน้าที่ของตัวเองหากชัดเจนว่าจะต้องเป็นฝ่ายค้าน เราก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน เว้นแต่การจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถทำได้ก็ต้องมาว่ากันใหม่ 

สำหรับเสียงสว. บางส่วนไม่ต้องการโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกของพรรคเพื่อไทยเนื่องจากมีตำหนิ พรรคก้าวไกลได้ประเมินหรือไม่ว่าสุดท้ายจะมีการเสนอชื่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรี นายรังสิมันต์ กล่าวว่า หวังว่าจะไม่ไปถึงขั้นนั้น เพราะเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อเพราะเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เราฝันจะต้องรัฐบาลประชาชน แต่ต้องกลายเป็นรัฐบาลลุง เป็นเรื่องยากที่สังคมจะรับไหว หากเป็นเช่นนั้นจริงจะมีการชุมนุมหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นหน้าตาของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น ต้องดูว่า พรรคไหนได้กระทรวงไหนก่อนจึงจะบอกได้