ศาล รธน. มติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง สภาเบรกโหวต“พิธา”นายกฯ รอบ 2

16 ส.ค. 2566 | 12:59 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2566 | 13:33 น.
1.1 k

ด่วน ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ โดยไม่รับคำร้อง ที่ประชุมรัฐสภาเบรกโหวต “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นายกฯ รอบ 2

วันนี้ (16 มิถุนายน 2566) ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ โดยเฉพาะเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน (ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน รับคำร้องของรองศาสตราจารย์พรชัย เทพปัญญา ผู้ร้องเรียนที่ 1  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง ชเลธร ผู้ร้องเรียนที่ 2 นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ส.ส. พรรคก้าวไกลและคณะซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลจำนวน 17 คนผู้ร้องเรียนที่ 3 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 

กรณีรัฐสภามีมติเรื่องการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีในรอบที่สอง วันที่ 19 ก.ค. 66 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยศาลฯเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิด

โดยใช้อำนาจรัฐแต่บุคคลที่จะมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงสำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 159 วรรค หนึ่ง ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอและเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เท่านั้น

ดังนั้นผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญ 2560 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบกับ มีช่องทางในการยื่นคำร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้

ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป