ครม.ตั้งรองเลขาฯ ปปง. นำร่องทิ้งทวนรองปลัด-อธิบดี ไม่รอรัฐบาลใหม่

15 ส.ค. 2566 | 17:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2566 | 17:48 น.

จับตา ประเด็นร้อนการแต่งตั้ง “ข้าราชการระดับสูง” เกษียณอายุ กระทรวงต่าง ๆ หลัง ครม.แต่งตั้งรองเลขาธิการ ปปง นำร่องตั้งข้าราชการในระดับรองหลายตำแหน่ง ทั้ง รองปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ตรวจ ไม่รอรัฐบาลใหม่

ประเด็นร้อนการแต่งตั้ง “ข้าราชการระดับสูง” ของกระทรวงต่าง ๆ ที่จะมีผู้บริหารเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2566 ตกอยู่ในความสนใจของใครหลายคน โดยเฉพาะในช่วงของรัฐบาลรักษาการว่ามีอำนาจแต่งตั้งได้หรือไม่ และหากแต่งตั้งได้จะผิดมารยาททางการเมือง หรือการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ หลังจากรอรัฐบาลใหม่เป็นเวลานาน

ปัญหาก้อนนี้จุกอกหลายกระทรวง ครั้นจะเดินหน้าแต่งตั้งก็เกรง แต่หากไม่รีบตั้งก็กลัวว่า งานหลายอย่างอาจจะสะดุดลงได้ในช่วงของสุญญากาศทางการเมือง โดยเฉพาะกระทรวงขนาดใหญ่เกรดเอที่จำเป็นต้องมีหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนงานออกมาให้เกิดความต่อเนื่อง

แม้ที่ผ่านมา “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี จะแจ้งในที่ประชุมครม.คราวก่อน เพื่อคลายล็อกให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดของปลัดกระทรวงที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในขณะนี้ สามารถเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงคนใหม่ เพื่อมาทำหน้าที่แทนปลัดกระทรวงที่เกษียณอายุ เข้ามาให้ที่ประชุมครม. พิจารณาได้ก็ตาม

 

ภาพประกอบข่าว การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง

แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาไม่น้อยถึงความหมาะสม และมารยาททางการเมืองว่า กรณีเช่นนี้ "ไม่ควรทำ" เพราะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) เรื่อง การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง

นั่นคือไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน โดยเฉพาะตำแหน่งใหญ่อย่าง “ปลัดกระทรวง

ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ รองลงมา เช่น รองปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ตรวจราชการ แม้กระทั่งตำแหน่งรองเลขาธิการหน่วยงานต่าง ๆ แม้ว่าจะอยู่ในอำนาจของปลัดกระทรวง หรือเลขาธิการ ระดับซี 11 จะสามารถทำได้ แต่การเสนอแต่งตั้งเข้ามาในครม.ก็ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องความเหมาะสมไม่แตกต่างกัน และอาจเข้าเงื่อนไข มาตรา 169 (2)

 

ภาพประกอบข่าว การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง

อย่างไรก็ดีในการประชุมครม. ครั้งล่าสุดในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ก็มีข้อน่าสงสัยอยู่ไม่น้อย หลังจากที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสนอแต่งตั้ง นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. ขึ้นเป็น รองเลขาธิการ ปปง. 

การแต่งตั้งครั้งนี้ แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ยอมรับว่า เหมือนเป็นการหยั่งเชิง แต่งตั้งแบบผู้บริการระดับรองขึ้นมาแบบลุยไฟ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ทราบว่า การแต่งตั้งผู้บริหารในระดับรองนั้น สามารถเสนอแต่งตั้งเข้ามายังครม.เพื่อพิจารณาได้

ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสนใจว่า ในการประชุมครม.ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็น่าจะมีหน่วยงานอีกหลายแห่งจองคิวเสนอการแต่งตั้งผู้บริหารในระดับนี้เข้ามาให้ ครม.อนุมัติ หลายตำแหน่ง

โดยการเสนอรายชื่อผู้บริหารระดับสูงเข้ามาให้ครม.ไฟเขียวนั้น หน่วยงานที่เสนอเข้ามาสามารถแจ้งถึงความจำเป็นเร่งด่วนของตำแหน่งต่าง ๆ ที่เสนอมาให้กับครม. พิจารณาได้ ถ้าครม.เห็นด้วย และไม่มีข้อสังเกตอะไรเพิ่มเติม

ขั้นตอนต่อไป สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะเสนอเรื่องต่อไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งขั้นตอนนี้ก็อยู่ที่ กกต. แล้วว่า จะตัดสินใจไฟเขียว ตามที่ ครม. เสนอเข้ามาหรือไม่

 

ภาพประกอบข่าว การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง

 

จากการตรวจสอบข้อมูลของข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ 2566 โดยเฉพาะกระทรวงเกรดเอด้านเศรษฐกิจ พบว่า ในปีงบประมาณนี้จะมีผู้บริการเกษียณอายุราชการด้วยกัน 28 ตำแหน่ง ตั้งแต่ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการ และอธิบดี ประกอบด้วย

กระทรวงการคลัง มี 7 ตำแหน่ง คือ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข รองปลัดกระทรวงการคลัง, นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวง, นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวง, นางชลิดา พันธ์กระวี ผู้ตรวจราชการกระทรวง, นายเอด วิบูลย์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวง และนางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มี 7 ราย คือ นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายขจร เหล่าประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน, นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง, นายเข้มแข็ง ยุติธรรม-ดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร, นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม และ นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

กระทรวงอุตสาหกรรม มี 6 คน คือ นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายทาวัน ทวีถาวรสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่,นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายสหวัฒน์ โสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

กระทรวงพาณิชย์ มี 4 ตำแหน่ง คือ นายวันชัย วราวิทย์ รองปลัดกระทรวง, นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า,นายกำแหง กล้าสุคนธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ นางระวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

กระทรวงพลังงาน มี 3 ตำแหน่ง คือ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน, นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน และ นายสุรีย์ จรูญศักดิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 

กระทรวงคมนาคม มี 1 ราย คือ นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน

ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในหลาย ๆ ตำแหน่งจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ภายใต้รัฐบาลรักษาการหรือไม่ เรื่องนี้...ต้องติดตามกันแบบห้ามกระพริบตาเลยทีเดียว