"ทักษิณ" กลับไทยต้องโทษ 3 คดีคุก 10 ปี มีอะไรบ้าง เช็คเลยที่นี่

30 ก.ค. 2566 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2566 | 08:03 น.

"ทักษิณ" กลับไทยต้องโทษ 3 คดีคุก 10 ปี มีอะไรบ้าง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ วิษณุสั่งกรมราชทัณฑ์ให้ดูแล 3 เรื่องเป็นพิเศษ ชี้ขออภัยโทษได้ ด้านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ราชทัณฑ์มีหน้าที่รับตัวผู้ต้องขังตามหมายขังจากศาล

จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับประเทศไทยวันที่ 10 ส.ค.66 ที่สนามบินดอนเมือง ตามโพสต์ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย บุตรสาว

ต่อเรื่องดังกล่าวนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กำชับกรมราชทัณฑ์ให้ดูแล 3 เรื่องเป็นพิเศษ ได้แก่ 

  • ความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้จะทำให้นายทักษิณได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนอื่น เพราะนักโทษอื่นไม่มีปัจจัยเสี่ยงตอนนี้
  • ให้มีความสะดวกตามสมควร แต่ไม่สะดวกมากจนเป็นอภิสิทธิ์ เนื่องจากจะมีคนเข้าเยี่ยม โดยคาดว่าจะมีองค์การระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน และแฟนคลับ มวลชน จำนวนมาก
  • ให้มีความสบายตามสมควร เพราะอายุเกิน 70 ปี และป่วย คงไม่เหมือนกับคนที่อายุ 25 หรือ 30 ปี

ขณะที่เรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น นายวิษณุระบุว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องขังทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่มีเงื่อนไขคือต้องเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการรับโทษต้องถูกคุมขัง และเมื่อพร้อมต้องเขียนฎีกาอธิบายค่อนข้างยืดยาว เพราะเมื่อยื่นไปแล้ว ถ้าไม่มี โปรดเกล้าฯ ลงมา จะยื่นอีกไม่ได้ภายใน 2 ปี
 

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ราชทัณฑ์มีหน้าที่รับตัวผู้ต้องขังตามหมายขังจากศาลเท่านั้น ทำอะไรนอกเหนือจากนี้ไม่ได้ ทุกอย่างมีขั้นตอนระบุชัดเจน

อย่างไรก็ดี ตามขั้นตอน หากนายทักษิณเดินทางเข้าประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะเป็นหน่วยงานแรกที่รับตัว ผู้ต้องหาตามหมายจับ จะทำบันทึกจับกุมก่อนนำตัวไปยังศาล เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน

หลังจากนั้นศาลจะออกหมายขัง โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่อยู่ประจำศาลจะรับตัวตามหมายขัง เพื่อนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำที่ศาลกำหนด คาดว่าจะเป็นเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
          
อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกรายจะถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องกักโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเวลา 5 วัน และต้องได้รับการตรวจสุขภาพจากสถานพยาบาลของเรือนจำ 

ส่วนกรณีนายทักษิณ อายุ 74 ปี ถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุและจะแยกควบคุมในห้องกักโรคเฉพาะผู้สูงอายุ หากมีโรคประจำตัวที่จะต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ทางกรมราชทัณฑ์จะมีแพทย์ประจำเรือนจำที่จะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการจำแนกผู้ต้องขัง โดยจะนำตัวไปยังห้องกักโรคของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อไป

สำหรับนายทักษิณ มีคดีที่ถูกพิพากษาไปแล้ว 4 คดี มีโทษจำคุกรวม 12 ปี หากกลับประเทศไทยจะมีโทษถูกจำคุกทันที แต่ปัจจุบัน 1 ใน 4 คดีหมดอายุความแล้ว ทำให้เหลือเพียง 3 คดี และโทษจำคุกเหลือ 10 ปี ได้แก่

  • คดีนายทักษิณสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลเมียนมา โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนเพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2562 และให้ออกหมายจับนำตัวมาบังคับคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
  • คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือคดีหวยบนดิน ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2562 และให้ออกหมายจับนำตัวมาบังคับคำพิพากษารวม 2 หมายจับ
  • คดีให้บุคคลอื่น หรือนอมินี ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญา ต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 โดยศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา

ด้านคดีที่หมดอายุความแล้ว คดีที่ยกฟ้อง และคดีที่ยกคำร้อง มีดังนี้

  • คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกที่มีการกล่าวหา คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลขณะนั้น และเป็นภริยานายทักษิณ) และนายทักษิณ ในการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่ 78 ตร.ว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551 ก่อนศาลฎีกาฯ จะตัดสินโทษนายทักษิณ ไม่มารับฟังคำตัดสินและได้หลบหนีออกนอกประเทศโดยอ้างว่าเดินทางไปดูการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน ศาลฎีกาฯ จึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง สั่งตัดสินจำคุกนายทักษิณ 2 ปี และออกหมายจับ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551 เพื่อให้นำตัวมาบังคับตามคำพิพากษา คดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว
  • คดีกล่าวหานายทักษิณ อนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ต่อมาศาลฎีกาฯ ได้ยกฟ้อง จากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ แต่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยืนยกฟ้องตามเดิม
  • คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อีก 4 สัญญา สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือคดีข้าวจีทูจีล็อต 2 โดย ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณเพิ่มเติมว่ามีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวิดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค แต่เมื่อเดือน ธ.ค.2565 สำนักงาน ป.ป.ช. มีมติไม่ชี้มูลความผิดนายทักษิณ และยกคำร้อง
  • คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร วงเงิน 11,585 ล้านบาท ศาลฎีกาฯ ตัดสินยกฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้สั่งการคือ นายทักษิณ พร้อมทั้งเพิกถอนหมายจับในคดีนี้ ขณะที่จำเลย คนอื่นๆ ถูกตัดสินจำคุกรวมกว่า 860 ปี
  • คดีกล่าวหานายทักษิณกับพวกอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส แบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สิน เพิ่มมากขึ้น ล่าสุด ป.ป.ช.มีมติไม่ชี้มูลความผิดนายทักษิณ และ ยกคำร้อง
  • คดีกองทัพบกยื่นฟ้องนายทักษิณ หมิ่นประมาท กรณีเมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.2558 ซึ่งได้มีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของนายทักษิณจากประเทศเกาหลีใต้ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกระทบถึงกองทัพบก คดีดังกล่าวนี้ศาลอาญาออกหมายจับนายทักษิณ เนื่องจากไม่มาศาล เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2558 และจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว หากได้ตัวมาดำเนินคดีแล้วจะขอรื้อคดีขึ้นมาใหม่