เลือกนายกฯ ก๊อก 2 ลุ้น “อุ๊งอิ๊ง” สูตรรัฐบาลเพื่อไทย 9 พรรค 312 เสียง

12 ก.ค. 2566 | 07:00 น.
2.0 k

13 ก.ค.ลุ้นผลโหวตเลือกนายกฯ จับตาหาก “พิธา” ไม่ผ่านด่าน ส.ว.ก๊อกแรก “เพื่อไทย” เดินเกมก๊อกสอง ผนึกอีก 8 พรรคตั้งรัฐบาล 312 เสียง ดัน “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯ “ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย”พลิกนั่งฝ่ายค้าน

วันพฤหัสที่ 13 ก.ค. 2566 นี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) รวมจำนวน 750 คน จะประชุมกันโดยมีวาระสำคัญคือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

โดยขณะนี้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจำนวน 312 เสียง ยังมีแค่ชื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวที่จะถูกเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ

“พิธา”พึ่งส.ว. 65 เสียง

กรณีที่ นายพิธา จะได้เป็นนายกฯคนที่ 30 นั้น ยังต้องพึ่งเสียงของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีก 65 เสียง (กรณี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา งดออกเสียง) ถึงจะได้ 376 เสียง ครึ่งหนึ่งของ 2 สภา (ส.ส. 500 + ส.ว. 250) ในการโหวตสนับสนุนให้ นายพิธา เป็นนายกฯ

ถือเป็นงานหนักของพรรคก้าวไกล ในการโน้มน้าวให้ ส.ว. มาโหวตสนับสนุน นายพิธา ยิ่งล่าสุด ส.ว.ได้เช็คเสียงกันเป็นการภายใน พบว่า มีการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มใหญ่ 90% จะลงมติงดออกเสียง กลุ่ม 2 สนับสนุน นายพิธา เป็นนายกฯ โดยกลุ่มนี้คาดว่ามี 5-10 เสียง และ กลุ่ม 3 คือ ออกเสียงไม่สนับสนุนชัดเจน
 

ในกรณีการโหวตนายกฯ รอบแรกวันที่ 13 ก.ค. หากนายพิธา ไม่ผ่านความเห็นชอบ ทางนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ก็ได้ออกมาพูดถึงไทม์ไลน์การโหวตเลือกนายกฯ ไว้แล้ว 3 ครั้ง คือ วันที่ 13, 19 และ 20 ก.ค.นี้

ทำให้ นายพิธา มีโอกาสลุ้นการเป็นนายกฯ ได้อีกครั้งในการโหวตครั้งที่สอง คือวันที่ 19 ก.ค. แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ ส.ว. มีท่าทีไม่เห็นด้วยที่จะให้เสนอชื่อ นายพิธา ขึ้นมาโหวตใหม่ โดยอ้างข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 41 ที่ระบุว่า ญัตติใดที่เสนอที่ประชุมรัฐสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบ ถือว่าตกไป และห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต เมื่อพิจารณาเห็นว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป

หากการโหวตเลือกนายกฯ นายพิธา ไม่สามารถผ่านด่านส.ว.ได้ รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล ก็คงมีอันล่มไป

                                 เลือกนายกฯ ก๊อก 2 ลุ้น “อุ๊งอิ๊ง” สูตรรัฐบาลเพื่อไทย 9 พรรค 312 เสียง

รัฐบาลเพื่อไทย 312 เสียง

ก๊อกที่สอง ก็จะเป็นโอกาสของ “พรรคเพื่อไทย” พรรคที่มีจำนวนส.ส.เป็นอันดับสอง ในการรวบรวมพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อร่วมกันจัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อไทย”

ทั้งนี้มีโอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีเสียงสนับสนุนรวม 312 เสียง อันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง

โดย “รัฐบาลเพื่อไทย” จะไม่มี พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคไทยสร้างไทย ร่วมรัฐบาล ทำให้ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน

การที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” มีพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ มาร่วมรัฐบาลด้วย ก็มีโอกาสที่จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. สาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในการโหวตสนับสนุนบุคคลที่พรรคเพื่อไทย เสนอให้เป็นนายกฯ ซี่งก็น่าจะได้เสียงสนับสนุนรวมเกิน 376 เสียงไปได้   

ส่วนบุคคลที่จะผลักดันให้ขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของ “รัฐบาลเพื่อไทย” นั้น มีโอกาสสูงที่จะเป็น อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 1 ของพรรค

                                

5 โมงเย็นโหวตนายกฯ

ส่วนความเคลื่อนไหวการโหวตเลือกนายกฯ นั้น เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อเตรียมความพร้อมการในประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธาน พร้อมด้วยตัวแทนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมประชุม

หลังการประชุม นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ที่ประชุมหารือประเด็นการโหวตเลือกนายกฯ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งจะมีการอภิปรายและโหวตกันได้ในเวลา 17.00 น. โดยส.ว.ได้เวลา 2 ชั่วโมง และส.ส.จากทุกพรรคการเมืองได้เวลา 4 ชั่วโมง

“ส่วนตัวเชื่อว่าการประชุมมีข้อบังคับอยู่ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาหรือความวุ่นวายเกิดขึ้น”

ทั้งนี้หากการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า และแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านในรอบแรก จะสามารถโหวตรอบที่ 2 ได้หรือไม่ เนื่องจากมีส.ว.บางส่วนออกมาท้วงติงว่า สามารถเสนอชื่อได้เพียงครั้งเดียว นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่นายพิธา สามารถแสดงวิสัยทัศน์ก่อนได้

“เรายังไม่รู้ว่า นายพิธา จะได้รับเสียงโหวตผ่านหรือไม่ แต่ถ้าไม่ผ่านก็ต้องมาพิจารณา โดยยึดตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ และมติที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยมาแล้ว แม้จะไม่เกี่ยวกับกรณีนี้โดยตรง และความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาว่าจะสามารถทำได้อย่างไร”

ดังนั้น ขอให้การพิจารณารอบแรกเสร็จสิ้นเสียก่อน ถ้าไม่ได้นายกฯ ถึงอย่างไรสภา ฯ ก็ต้องดำเนินการให้ได้นายกฯ เพราะเป็นหน้าที่โดยตรง แต่จะเสนออย่างไร กี่ครั้ง และคนเดิมได้หรือไม่ ขอให้จบรอบแรกไปก่อน
 

รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3904 หน้า 1