เขย่าขวัญ “พิธา” ส.ว. 90% งดออกเสียงโหวตนายกฯ

10 ก.ค. 2566 | 17:23 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2566 | 17:28 น.

หยั่งท่าที ส.ว. พบ 90% จ่องดออกเสียง โหวต "พิธา" เป็นนายกฯ พร้อมค้านเสนอชื่อใหม่รอบสอง งัดข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 41 มัดญัตติที่ถูกโหวตตก ห้ามเสนอซ้ำอีก

วันนี้(10 ก.ค. 66 ) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯ  คนที่ 30 ในวันที่ 13 ก.ค.2566 ที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ให้รัฐสภาลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ว่า

แม้จะมี ส.ว. โพสต์ข้อความแสดงจุดยืนสนับสนุน นายพิธา ตามหลักการครองเสียงข้างมากในสภาฯ เช่น นายวันชัย สอนศิริ, นพ.อำพล จินดาวัฒนะ, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, นายมณเฑียร บุญตัน แต่ส.ว.ได้เช็คเสียงภายใน กลับพบว่า มี ส.ว. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

-กลุ่มใหญ่ 90% จะลงมติงดออกเสียง

-กลุ่ม 2 สนับสนุน นายพิธา เป็นนายกฯ โดยกลุ่มนี้คาดว่ามี  5-10 เสียง

-กลุ่ม 3 ออกเสียงไม่สนับสนุนชัดเจน

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เป็นประธานกมธ.  ได้หารือ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. เพื่อประเมินสถานการณ์และการโหวตนายกฯ 

โดยได้พิจารณาและเห็นว่า ชื่อของ นายพิธา ที่ไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจากกรัฐสภา ตามเกณฑ์ 376 เสียง จะไม่สามารถเสนอซ้ำอีกในการโหวตครั้งที่2 โดยอ้างถึงข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 41 ที่ระบุว่า ญัตติใดที่เสนอที่ประชุมรัฐสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบถือว่าตกไป และห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักกการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน  เว้นแต่ญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต เมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น กมธ. จึงมองว่า กรณีที่รอบแรก นายพิธาไม่ได้รับเลือกจากรัฐสภา จะไม่สามารถเสนอชื่ออีกในการโหวตครั้งที่ 2

กมธ.ได้หารือด้วยว่า หากมีคนเสนอชื่อ นายพิธา กลับมาอีกในการโหวตรอบสอง ที่นัดหมายในวันที่ 19 ก.ค. จะมีส.ว.ลุกคัดค้านกับที่ประชุมรัฐสภา โดยอ้างอิงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 แต่หากประธานรัฐสภา ยังยืนยันให้เสนอชื่อ นายพิธา ได้ ต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 เพื่อให้เป็นเงื่อนไขว่า “ประธานรัฐสภา” ใช้ดุลยพินิจของตนเอง หรือ ใช้การลงมติของที่ประชุมรัฐสภาตัดสิน 

“วันที่ 19 ก.ค. ซึ่งนัดโหวตนายกฯ รอบสองนั้น ขอให้จับตาว่าจะมีผู้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองอื่น แข่งขันกับ นายพิธา ด้วย” แหล่งข่าวจาก ส.ว.ระบุ