เพื่อไทยข่มก้าวไกล งัดข้อ “ประธานสภา” จุดเปลี่ยนรัฐบาล

24 มิ.ย. 2566 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2566 | 11:10 น.

เพื่อไทยข่มก้าวไกล งัดข้อ “ประธานสภา” จุดเปลี่ยนรัฐบาล : เมื่อเพื่อไทยมีท่าทีแข็งกร้าวมาเช่นนี้ ภาระหนักจึงไปตกอยู่กับก้าวไกล ว่าจะอ่อนข้อยกประธานสภาฯ ให้กับเพื่อไทยหรือไม่ …รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

สถานการณ์ “รัฐบาลก้าวไกล” ดูท่าง่อนแง่น มีโอกาสสูงที่จะล่มลงได้ง่าย ๆ หากไม่มีการปลดชนวนความขัดแย้งในตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” กับ เพื่อไทย ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล อันดับที่สอง

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2566 พรรคเพื่อไทย โดย อดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ออกมาย้ำถึงเงื่อนไขการร่วมรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นไปยังพรรคก้าวไกล ว่า 

“ข้อมูลอาจจะไม่ตรงกัน ส.ส.ทั้ง 141 คน ของพรรค ตอนแรกบอกว่ารัฐมนตรี 14 + 1 ก้าวไกลได้นายกฯ เพื่อไทย 14 + 1 ได้ประธานสภาฯ ถ้าเป็นไปตามนี้พวกเราก็มีความสุข แต่อยู่ๆ ก็ไปยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้กับพรรคอันดับ 1 โดยไม่สอบถาม ส.ส. หรือที่ประชุมพรรค จึงมีปัญหาทำให้ถกเถียงกันอาจจะรุนแรงไปหน่อย” อดิศร กล่าวถึงการประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา

ส่วนแนวโน้มการแสดงความคิดเห็นแบบนี้จะลงเอยอย่างไร นายอดิศรกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งคนที่มีหน้าที่ไปเจรจากับพรรคก้าวไกล และพรรคร่วม ก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึก ส.ส.เกือบจะ 100% ของพรรคเพื่อไทยว่า มีความคิดเห็นลักษณะเช่นนี้ แล้วไปพูดกับพรรคก้าวไกลว่า เขาจะมีท่าทีอย่างไร

ค้านยกปธ.สภาให้ก้าวไกล

“ผมไม่อยากให้ประธานสภาฯ มาขัดขวางการเจริญเติบโตของรัฐบาลผสม ที่ใกล้เข้ามาแล้ว ขอภาวนาให้เจรจาจบลงเร็วๆ และในพรรคมีความเห็นแบบนี้เกือบจะ 100% เพราะคะแนนเราอาจจะห่างกันไม่มาก” อดิศร ระบุ

เมื่อถามว่าถ้าตกลงกันไม่ได้จะมีการโหวตแข่งกันหรือไม่ นายอดิศรกล่าวว่า ถ้ามีปัญหาถกเถียงกันก็ต้องใช้ที่ประชุมตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของสภาฯ เพราะที่นี่ไม่ใช่สภาฯ ของพรรคใดพรรคหนึ่ง เนื่องจากไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่งสักพรรคเดียว 

“อยากให้เจรจากันให้จบโดยเร็ว ถ้าตกลงกันอย่างไร ก็ให้มีการเสนอในที่ประชุมพรรค และผมจะร่วมแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง ส่วนถ้ามติพรรคฯ ออกมาว่ามอบตำแหน่งประธานสภาฯ ให้พรรคก้าวไกล ก็ต้องมีเหตุผลประกอบ” อดิศร ระบุ

ก่อนหน้านั้น ในการสัมมนาพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส.ส.เสียงส่วนใหญ่กว่า 90% ของ ส.ส. 141 คน เห็นตรงกันว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ควรยกให้พรรคก้าวไกล แต่ควรอยู่ที่พรรคเพื่อไทย

เมื่อ “เพื่อไทย” มีท่าทีแข็งกร้าวมาเช่นนี้ ภาระหนักจึงไปตกอยู่กับ “ก้าวไกล” ว่าจะอ่อนข้อยก “ประธานสภาฯ” ให้กับเพื่อไทยหรือไม่? หากยอมหัก ไม่ยอมงอ ก็มีโอกาสสูงที่ตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” ต้องไปวัดกันในที่ประชุมสภาฯ 

หากปล่อยให้ถึงขั้นนั้น “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” อาจจะมองหน้ากันไม่ติด และจะมีปัญหาลามไปถึงการร่วมรัฐบาล และ การโหวตตำแหน่งนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภาได้ 

                          เพื่อไทยข่มก้าวไกล งัดข้อ “ประธานสภา” จุดเปลี่ยนรัฐบาล

โหวตลับจุดเสี่ยงปธ.สภา

เบื้องแรกต้องไม่ลืมว่า ตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” มีสิทธิ์พลิกโผ หากดูจากขั้นตอนการโหวตเลือก "ประธานสภาฯ” ซึ่งต่างจากการโหวตเลือก "นายกรัฐมนตรี” อย่างสิ้นเชิง 

โดยขั้นตอนการเลือก “ประธานสภาฯ” ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ได้กำหนดขั้นตอนการเลือกประธานสภาและรองประธานสภาฯ ไว้ในหมวด 1 เริ่มจากให้เลขาธิการเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมทำหน้าที่เป็น "ประธานชั่วคราว" ของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา 

จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกเสนอชื่อผู้เป็นประธานสภาฯ โดยแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้ 1 ชื่อ การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน 

กรณีมีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียวให้ถือว่า "ผู้ถูกเสนอชื่อ" นั้น เป็น "ผู้ได้รับเลือก"  

กรณีมีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 1 คนขึ้นไป จะต้องมี "การลงคะแนนเป็นการลับ" โดยเขียนชื่อผู้ที่ ส.ส.ประสงค์ลงคะแนนให้บนแผ่นกระดาษแล้วนำใส่ซองปิดผนึก 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ในห้องประชุมจะขานชื่อสมาชิกทีละคนตามลำดับตัวอักษรเพื่อให้นำซองไปใส่ลงในภาชนะที่ใช้ในการตรวจนับคะแนน เมื่อสมาชิกหย่อนซองออกเสียงครบแล้ว ที่ประชุมจะตั้งกรรมการตรวจนับคะแนนซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองหลัก โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อซึ่งได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็นประธานสภาฯ
ก่อนจะเป็นการเลือก รองประธานสภา คนที่ 1 และ คนที่ 2 ตามลำดับโดยใช้วิธีการเดียวกัน

ด้วยกระบวนการ “ลงคะแนนลับ” ดังกล่าว ทำให้ไม่ทราบว่า ส.ส.คนไหน พรรคการเมืองใด ลงคะแนนให้กับผู้ได้รับการเสนอชื่อประธานสภาฯ คนไหน ซึ่งต่างจากการเลือกนายกฯ  ที่ต้องกระทำโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมดทีละคน

ยิ่งมีกระแสข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอชื่อ สุชาติ ตันเจริญ แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ชิงเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติด้วยแล้ว …น่าจับตาว่า “ก้าวไกล” จะคลี่ปมปัญหานี้อย่างไร

จุดเปลี่ยนรัฐบาล

ปัญหาของพรรคก้าวไกล นอกจากตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ปีนเกลียวกับพรรคร่วมรัฐบาลอันดับที่สองแล้ว ยังต้องไปเผชิญศึกกับ ส.ว. ในการโหวตตำแหน่งนายกฯ อีก 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของก้าวไกล จะได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 หรือไม่ “ส.ว.” จะเป็นผู้ชี้ชะตา 

เพราะพรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. อยู่ 312 เสียง ยังต้องการแรงสนับสนุนจาก ส.ว.อีก 64 เสียง จึงจะครบ 376 เสียง กึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. ถึงจะผ่านมติได้รับการรับรองให้เป็นนายกฯ ได้  

สถานการณ์ยามนี้ “เพื่อไทย” พรรคอันดับสอง ซึ่งได้ ส.ส.เข้ามา 141 เสียง ถือว่าข่มพรรคก้าวไกล ถอนตัวร่วมรัฐบาลก้าวไกลเมื่อไหร่ รัฐบาลก็ล่มเมื่อนั้น 

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ยังสามารถสวิงไปจับมือกับพรรครัฐบาลปัจจุบันเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ยิ่งหากได้ “พรรคพลังประชารัฐ” มาเป็นแนวร่วมด้วย ก็จะได้รับแรงหนุนจาก ส.ว. สาย บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการโหวตนายกฯ 

โอกาสที่ “เพื่อไทย” จะพลิกขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยส่ง “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 2 เป็นนายกฯ คนที่ 30 ถือเป็นแนวทางหนึ่ง

หรืออาจจะมี “สูตรอื่น” ในการจัดตั้งรัฐบาล แล้วส่ง “ก้าวไกล” ไปเป็นฝ่ายค้าน ก็มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงเช่นเดียวกัน...