ประเด็นเก้าอี้ "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" เปิดชื่อตัวเต็งออกมาหลายรายชื่อมีทั้งจากฝั่งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่งานนี้ เรียกว่า ไม่มีใครยอมใคร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคเพื่อไทยซึ่งในการสัมมนาพรรคเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ ส.ส.พรรคหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาแสดงความคิดเห็นกันโดยเสียงส่วนใหญ่กว่า 90% ของ ส.ส. 141 คนนั้น เห็นตรงกันว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ควรยกให้พรรคก้าวไกลแต่ควรอยู่ที่พรรคเพื่อไทย
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวออกมาว่า ได้มีการเจรจาพูดคุยกันว่า ทางพรรคเพื่อไทยยอมถอยให้พรรคอันดับหนึ่งอย่างพรรคก้าวไกลได้นั่ง ประธานสภา ส่วนเก้าอี้ รองประธานสภา ทั้ง 2 ตำแหน่งเป็นของพรรคอันดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทยแต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ในการสัมมนาพรรคครั้งนี้ต่างยืนยันว่า ต้องได้เก้าอี้ ประธานสภา ซึ่งจะนำไปสู่การตกลงเจรจาเพื่อหาข้อสรุปกันอีกรอบหรือไม่ต้องติดตาม
งานนี้มีสิทธิ์พลิกโผหากดูจากขั้นตอนการโหวตเลือก "นายกรัฐมนตรี" ซึ่งต่างจากการโหวตเลือก "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" อย่างสิ้นเชิง
ขั้นตอนการเลือกประธานสภา
ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ได้กำหนดขั้นตอนการเลือกประธานสภาและรองประธานสภาไว้ในหมวด 1 เริ่มจากให้เลขาธิการเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมทำหน้าที่เป็น "ประธานชั่วคราว" ของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา
จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกเสนอชื่อผู้เป็นประธานสภา โดยแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้ 1 ชื่อ โดยการเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน
จากนั้นเจ้าหน้าที่ในห้องประชุมจะขานชื่อสมาชิกทีละคนตามลำดับตัวอักษรเพื่อให้นำซองไปใส่ลงในภาชนะที่ใช้ในการตรวจนับคะแนน เมื่อสมาชิกหย่อนซองออกเสียงครบแล้ว ที่ประชุมจะตั้งกรรมการตรวจนับคะแนนซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองหลัก โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อซึ่งได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็น "ประธานสภาผู้แทนราษฎร"
จากนั้นจะเป็นการเลือก รองประธานสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 ตามลำดับโดยใช้วิธีการเดียวกัน
ด้วยกระบวนการลงคะแนนโดยลับเช่นนี้ ทำให้ไม่ทราบว่า ส.ส.คนไหน พรรคการเมืองใด ลงคะแนนให้กับผู้ได้รับการเสนอชื่อประธานสภาคนไหน ซึ่งต่างจากการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องกระทำโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ทั้งหมดทีละคน
เปิดชื่อตัวเต็ง "ประธานสภา" พรรคก้าวไกล-เพื่อไทย
รายชื่อที่ถูกระบุว่าเป็นตัวเต็งประธานสภาของพรรคก้าวไกลนั้น ประกอบด้วย
1.นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กทม.
2.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก
สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้นรายชื่อที่ปรากฎออกมาช่วงนี้มีหลายคน คือ
1.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
2.นายจาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง
3.นายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรองประธานสภาคนที่ 1
สุดท้ายแล้ว ส.ส.จากพรรคไหนจะได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไปครอง เร็ว ๆ นี้เราได้รู้กัน