เปิดประวัติ "วิโรจน์ เปาอินทร์" ส.ส.อาวุโสสูงสุด ว่าที่ประธานสภาชั่วคราว

20 มิ.ย. 2566 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2566 | 14:31 น.
1.5 k

ส่องประวัติ ผลงาน เส้นทางการเมือง "พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์" ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว วัย 89 ปี ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 จากพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่เป็นประธานสภาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26

ภายหลังการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ 500 คนแล้ว ขั้นตอนสำคัญหลังจากนี้คือ รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาและการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับกระบวนการเลือกตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งแรกนั้น กำหนดให้ "ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด" ของสมาชิกทำหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวซึ่งการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ครั้งแรกนี้ "พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 จากพรรคเพื่อไทย ได้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวในครั้งแรกนี้เพื่อดำเนินการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ประวัติ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ 

พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เป็นบุตรของนายเซ้ง กับนางกี เปาอินทร์ ได้สมรสกับนางวินิจ เปาอินทร์ ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเด็กจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีบุตรชาย คือ พ.ท.นราวิทย์ เปาอินทร์ 

เส้นทางงานการเมือง

พล.ต.ท.วิโรจน์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อ่างทอง เคยสังกัดพรรคประชากรไทย และพรรคชาติไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2535

ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี 2 สมัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ ในปี 2543 นั่งเก้าอี้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย 

การเลือกตั้งในปี 2548 พล.ต.ท.วิโรจน์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคไทยรักไทย นางสาวเพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ไชย จากนั้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พล.ต.ท.วิโรจน์ ได้ลงสมัคร ส.ส. ในระบบสัดส่วนลำดับที่ 5 ในสังกัดพรรคพลังประชาชนแต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาในปี 2552 พล.ต.ท.วิโรจน์ ได้ร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของรัฐสภาและได้เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยโดยรับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค

สำหรับการเลือกตั้งปี 2554 พล.ต.ท.วิโรจน์ ได้ลงสมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่ออยู่ลำดับที่ 17 ของพรรคเพื่อไทย ทั้งยังได้ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร โดยดำรงตำแหน่ง รองประธานคณะกรรมการคนที่ 4 ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เป็นประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร และได้รับแต่งตั้งจากกรรมการบริหารพรรคให้ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แทน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ปี 2557 พล.ต.ท.วิโรจน์ ได้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย อยู่ลำดับที่ 119 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 พล.ต.ท.วิโรจน์ ได้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 1 ซึ่งถือเป็น ส.ส.ที่อาวุโสสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้