โจทย์ใหญ่“พิธา-ก้าวไกล”ฝ่าด่านหิน ส.ว.

18 มิ.ย. 2566 | 14:41 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 14:54 น.

โจทย์ใหญ่“พิธา-ก้าวไกล”ฝ่าด่านหิน ส.ว. : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,897 ระหว่างวันที่ 17-21 มิ.ย. 2566


*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,897 ระหว่างวันที่ 17-21 มิ.ย. 2566 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** ภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อ 14 พ.ค. 2566 จวบจนถึงวันนี้ ล่วงเลยมากว่า 1 เดือนแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้บรรดา “ด้อมส้ม” แฟนคลับ พรรคก้าวไกล FC พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย ต่างอึดอัด เราจึงได้เห็นกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวร่วมพรรคก้าวไกล ออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้ กกต. เร่งรับรอง ส.ส. เพื่อเปิดทางให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา โหวตเลือกนายกฯ และ ตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว “เราเข้าใจว่ากฎหมายให้เวลา กกต. 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งในอดีต กกต.ไม่เคยใช้เวลานานขนาดนี้ เลือกตั้งปี 2548 กกต.ใช้เวลา 16 วัน ในปี 2550 ใช้เวลา 29 วัน ปี 2554 ใช้เวลา 24 วัน ปี 2562 ที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงใช้เวลา 45 วัน แต่ปีนี้กลับพบว่า กกต.ใช้เวลารับรองผลนานผิดปกติ จึงทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยถึงกระบวนการการทำงานของ กกต." ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ระบุ

+++ สำหรับความเคลื่อนไหวของ กกต. ในการรับรอง ส.ส.นั้น เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. และ 13 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ทาง กกต.ก็ได้เริ่มกระบวนการพิจารณาผลการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อจะนำไปสู่การประกาศรับรองแล้ว โดย อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. บอกว่า สำนักงาน กกต.เสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตครบทั้ง 400 คน ให้ที่ประชุมพิจารณารับรองหรือไม่

ที่ประชุมพิจารณาแล้วยังไม่สามารถประกาศรับรองได้ เนื่องจากการพิจารณาในภาพรวม ผู้ที่มีการร้องเรียน และไม่มีการร้องเรียน ยังต้องดูความเห็นผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย ซึ่งตรงส่วนนี้ยังไม่มีข้อสรุป จึงยังไม่สามารถรับรองได้ และมอบหมายให้สำนักงาน กกต.ไปพิจารณาประมวลความเห็น และส่งเรื่องกลับมาให้ที่ประชุมกกต.พิจารณาในสัปดาห์หน้า พร้อมกับยื่นรายชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เข้ามาให้พิจารณาพร้อมกัน

ส่วนจะประกาศรับรองเมื่อไหร่นั้น ประธาน กกต.บอกว่า  ขอยังไม่ตอบแบบฟังธง เพราะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่สำนักงานกกต.จะนำเสนอขึ้นมาเป็นหลัก ถ้าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ที่ประชุม กกต. ทั้ง 6 คนเห็นว่าครบถ้วน ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมก็สามารถประกาศรับรองได้ แต่ผมก็ยังขอไม่ยืนยันในตอนนี้”

*** แม้ กกต. ยังไม่รับรอง ส.ส. แต่ก็มีเอกสารหลุดออกมาว่า ในการพิจารณาผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต วันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการเสนอว่า ผู้ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตใดบ้างที่มีเรื่องร้องคัดค้าน พบมี 37 จังหวัด 71 เขต ที่ผู้ชนะถูกร้องคัดค้าน ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร มี 33 เขต เสนอให้รับรอง 32 เขต ยกเว้นเขต 28 น.ส.รัชนก ศรีนอก พรรคก้าวไกล

และเมื่อรวมว่าที่ ส.ส.จากพรรคที่ถูกร้องเรียนพบว่า เป็นว่าที่ส.ส.จาก ภูมิใจไทย 23 คน เพื่อไทย 17 คน พลังประชารัฐ 16 คน ก้าวไกล 6 คน ประชาธิปัตย์ 3 คน รวมไทยสร้างชาติ 3 คน ไทยสร้างไทย 2 คน และ เพื่อไทยรวมพลัง 1 คน ส่วนจังหวัดที่เสนอให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง มีจำนวน  329 เขต ใน 40 จังหวัด 

                         โจทย์ใหญ่“พิธา-ก้าวไกล”ฝ่าด่านหิน ส.ว.

*** ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส 2561 มาตรา 127 กำหนดให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด จึงให้สำนักงาน กกต.ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เหลือให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดและเสนอให้กกต.พิจารณาในคราวเดียว ทำให้ในวันนี้ยังไม่มีการประกาศรับรองผล ส.ส.รายใด และคาดว่าสำนักงาน กกต.จะมีการเสนอเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมสัปดาห์หน้า สำหรับร้อยละ 95 ของจำนวนส.ส.เขตที่มี 400 คน ก็คือ 380 คน เมื่อกกต.รับทราบส.ส.กลุ่มที่ไม่มีเรื่องร้องเรียน 329 คนแล้ว ก็จะเหลือส.ส.ในส่วนที่สำนักงานฯ จะต้องดำเนินการให้ครบร้อยละ 95 อีกเพียง 51 คนเท่านั้น 

***ทั้งนี้กกต.ต้องดำเนินการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อน ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี จะพ้นจากตำแหน่ง กกต. เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ ทำให้ได้ลุ้นว่านับแต่สัปดาห์หน้า กกต.จะประกาศส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง และ รับรอง ส.ส.เขต ทั้ง 400 ที่นั่งในคราวเดียวกันหรือไม่ เพราะหากรับรองไปก่อนทั้งหมด ก็เข้าทำนองว่า “รับรองก่อน สอยทีหลัง” สำหรับผู้ที่มีเรื่องร้องเรียนและถูกชี้มูลว่าผิดนั่นเอง  

*** เอาหละ... แม้ว่า กกต.จะประกาศรับผลรอง ส.ส.จนสามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้ แต่ “วิบากกรรม” ของพรรคก้าวไกล ก็เจออุปสรรค ที่จะผลักดันให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปถึงฝั่งฝันในตำแหหน่งนายกฯ คนที่ 30 ได้ง่าย ๆ สมมติผ่านอุปสรรคเรื่อง “หุ้นไอทีวี” ไปได้ ก็ต้องไปเจอกับ “ด่านหิน ส.ว” เพราะ “รัฐบาลก้าวไกล” ที่รวมตัวจัดตั้งขึ้นมามี 312 เสียง ต้องพึ่งพิงเสียงของ ส.ว. อีก 64 เสียง ถึงจะได้ 376 เสียง ครึ่งหนึ่งของ 2 สภา (ส.ส. 500 + ส.ว. 250) ในการโหวตสนับสนุนให้ พิธา เป็นนายกฯ ปัญหาคือ ก้าวไกล จะได้รับเสียงสนับสนุนถึง 64 เสียงหรือไม่ นี่คือโจทย์ใหญ่ของพรรคก้าวไกล ที่ต้องหาทางทะลุไปให้ได้ แล้วเรามาคอยดูกัน...