หลักฐานชัด "ไอทีวี" ดอดเจรจาลงทุน "ทีวีดิจิตอล" ปี 60

15 มิ.ย. 2566 | 10:00 น.
3.5 k

เปิดเอกสารชัดมัด "ไอทีวี" พบต้นปี 59 บอร์ดจ้างที่ปรึกษากฎหมาย "ฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยมส์" วางแผนการลงทุน ปลายปี 59 เห็นชอบให้บริษัทลูกเป็นผู้ลงทุนตามแนวทางที่ได้ศึกษาไว้ ต้นปี 60 เจรจาเพิ่มทุนทีวีดิจิตอล 300 ล้าน

ประเด็นการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ล่าสุดหลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีในประเด็นที่ว่า ไอทีวีมีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่

กระทั่ง นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการไอทีวี ซึ่งปรากฎอยู่ในคลิปดังกล่าวตอบคำถามว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน" ซึ่งเมื่อตรวจสอบรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 กลับไม่เป็นเช่นนั้น 

ทั้งนี้ หลังจากที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางไปที่ศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ. 54/2564 ซึ่งจนถึงปัจจุบันคดีข้อพิพาทระหว่าง ไอทีวี และ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด 

ในปี 2559 ก่อนที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเข้าสู่ถนนการเมือง พร้อมกล่าวอ้างเกี่ยวกับการถือหุ้นไอทีวีของตัวเองว่า ไอทีวี ได้ปิดกิจการ เลิกทำสื่อไปแล้ว ณ ขณะนั้น รวมถึงกรณีที่ นายคิมห์ ประธานกรรมการไอทีวีที่ปรากฎอยู่ในคลิปดังกล่าว ระบุว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน" นั้น

กลับปรากฎข้อมูลว่า ไอทีวี ได้มีการวางแผนการลงทุนของบริษัทอีกครั้งซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การเข้าร่วมลงทุนในสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิตอลโดยในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 ในวาระที่ 7.3 เรื่อง การพิจารณาแนวทางการดําเนินกิจกรรมหลังจากได้รับคําชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนี้

ประธานได้แถลงต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมการเห็นสมควรเสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรับทราบเรื่องการพิจารณาแนวทางการดําเนินกิจการของบริษัท ภายหลังจากได้รับคําชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการที่คณะกรรมการได้ดําเนินการไปแล้ว ดังนี้

ภายหลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคําชี้ขาดในคดีข้อพิพาทหมายเลขดําที่ (เป็นคดีข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 1/2559) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ซึ่งตัดสินว่า สปน. บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดําเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

คณะกรรมการบริษัทได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยมส์ ให้ทําการศึกษาและวางแผนโครงสร้างการลงทุนที่เหมาะสมของบริษัทเพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้เข้าใจและรับทราบรายละเอียดการทํางานของคณะกรรมการในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงขอรายงานเรียงตามลําดับเวลา ดังนี้

ปลายเดือนเมษายน 2559

บริษัทได้รับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมาย ระบุว่า บริษัทสามารถดําเนินการเรื่องการลงทุนได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย มีความเสี่ยงเฉพาะในเรื่องผลประกอบการและสถานะของกิจการที่จะเข้าไปลงทุน

ช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนสิงหาคม 2559

คณะกรรมการได้พิจารณาและวิเคราะห์โครงสร้างการลงทุนของบริษัทที่มีความเหมาะสมเพื่อสรรหาโครงสร้างการลงทุนที่จะเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นในหลากหลายรูปแบบ

เดือนพฤศจิกายน 2559

สรุปเรื่องโครงสร้างการลงทุน โดยบริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกจะเป็นผู้ลงทุนในแนวทางและกรอบการลงทุนที่บริษัทได้ศึกษาและกําหนดไว้

เดือนมกราคม 2560

ได้รับข้อเสนอทางธุรกิจจากบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิตอล ต้องการเพิ่มทุนจดทะเบียนให้บริษัทเข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 ในวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท

ในการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ทีมผู้บริหารของบริษัทเป้าหมายเข้ามานําเสนอและอธิบายแผนธุรกิจและกลยุทธ์ของบริษัทต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และในการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 คณะกรรมการบริษัทได้ประชุมเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับข้อเสนอทางธุรกิจของบริษัทเป้าหมาย

ภายหลังที่ได้หารือร่วมกัน โดยวิเคราะห์ถึงสภาพตลาด การแข่งขัน และข้อดีข้อเสียของการเข้าลงทุนตามข้อเสนอของบริษัทเป้าหมายอย่างรอบคอบแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า บริษัทไม่สามารถตอบรับข้อเสนอทางธุรกิจของบริษัทเป้าหมายได้เนื่องจาก

1. ธุรกิจสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก มีผู้ประกอบการรายที่เป็น ผู้นําตลาดเท่านั้นที่จะพอสร้างกําไรได้

2. มีความไม่แน่นอนในการประมาณการรายได้ในอนาคตของบริษัทเป้าหมาย ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากสมมุติฐานใด และไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอที่จะทําให้เชื่อถือได้ว่า บริษัทเป้าหมายจะสามารถเติบโตและสร้างรายได้ตามที่ได้คาดการณ์ไว้

3. มีความกังวลเรื่องการบริหารเงินลงทุน เนื่องจากบริษัทเป้าหมายมุ่งเน้นในการนําเงินเพื่อ เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท (working capital) ซึ่งอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่บริษัทในระยะยาวได้

4. บริษัทเป้าหมายมีภาระหนี้สินในระดับสูง จึงยังไม่เห็นความเป็นไปได้ว่า หากบริษัทตอบรับข้อเสนอทางธุรกิจดังกล่าวและใส่เงินลงทุนเข้าไปแล้ว บริษัทเป้าหมายจะสามารถ บริหารเงินลงทุนจนสามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้ในระยะเวลาอันใกล้

นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้ร่วมกันพิจารณากําหนดทิศทางการลงทุนของบริษัทให้เป็นรูปธรรมโดยมีมติกําหนดกรอบการลงทุน ดังต่อไปนี้

กำหนดขนาดของการลงทุน:

  • วงเงินลงทุนสูงสุดไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย:

  • ธุรกิจด้านเทคโนโลยี มีเดีย และเทเลคอม (TMT) เนื่องจากเป็น กลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล และบริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มอินทัชที่มีความเชี่ยวชาญในกลุ่มธุรกิจ TMT บริษัทมองว่าเป็นประโยชน์ในเรื่องของโอกาสในทางธุรกิจ

สัดส่วนในการลงทุน:

  • ไม่ได้กําหนดสัดส่วนแต่จะลงทุนเฉพาะในธุรกิจที่เปิดดําเนินการแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ บริษัทจะทําการคัดเลือกและแต่งตั้งบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนที่มีความน่าเชื่อถือและมี ชื่อเสียง เพื่อมาให้คําปรึกษาในการสรรหาบริษัทเป้าหมายและการดําเนินการอื่น ๆ ที่จําเป็น เช่น การวิเคราะห์ศักยภาพและการลงทุน การศึกษารายละเอียดรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและการดําเนินการเกี่ยวกับขั้นตอนและประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อการทํา due diligence ในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาและคัดเลือกที่ปรึกษาการลงทุน หลังจากที่บริษัทแต่งตั้ง ที่ปรึกษาการลงทุนเรียบร้อยแล้วก็จะดําเนินการหาธุรกิจเป้าหมายเป็นลําดับต่อไป

 

เอกสารวาระการประชุมพิจารณาแนวทางดำเนินกิจกรรมหลังได้รับคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ เอกสารวาระการประชุมพิจารณาแนวทางดำเนินกิจกรรมหลังได้รับคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ

เอกสารวาระการประชุมพิจารณาแนวทางดำเนินกิจกรรมหลังได้รับคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ