“ไอทีวี” มีแผนปลุกผี คืนชีพธุรกิจสื่อ?

14 มิ.ย. 2566 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2566 | 15:43 น.
782

เปิดข้อมูลลึก “ไอทีวี” มีแผนปลุกผี คืนชีพธุรกิจสื่อ? พบหลังบริษัทชนะคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้ว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายวางแผนลงทุนไอทีวี เจรจาเพิ่มทุนทีวีดิจิทัล พร้อมตั้งงบลงทุนไม่เกิน 1 พันล้าน พร้อมจ้าง บลจ.ภัทร ศึกษาความเป็นไปได้การลุงทุน

ประเด็นการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางภายหลังมีการเผยแพร่คลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ในประเด็นที่ว่าไอทีวีมีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ แต่คำตอบของนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการไอทีวี ในคลิปกลับไม่ตรงกับรายงานการประชุม

โดยนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อพิรุธดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลตามฉันทานุมัติของประชาชนผ่านการเลือกตั้งและมีความพยายามในการฟื้นคืนชีพไอทีวีขึ้นมาหรือไม่

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า รู้อยู่แล้วว่า มีขบวนการที่จะฟื้นไอทีวีขึ้นมาและมีคนส่งข้อมูลมาให้เรื่อย ๆ รวมถึงทีมกฎหมายของพรรคได้ข้อมูลมาเรื่อย ๆ

ไทม์ไลน์คดีข้อพิพาทไอทีวี กับ สปน.

การหยุดออกอากาศของไอทีวีเกิดขึ้นหลังจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มีหนังสือไปยังบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ไอทีวี) เพื่อบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) และให้ระงับการออกอากาศมีผลวันที่ 7 มีนาคม 2550

ต่อมาไอทีวี ได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อให้พิจารณาว่า การบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ในวันที่ 7 มีนาคม 2550 ของ สปน.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

14 มกราคม 2559 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดว่า การบอกเลิกสัญญาร่วมงานฯ ของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงให้ สปน. ชดใช้ความเสียหายให้แก่ไอทีวี รวมจำนวน 2,890,345,205.48 บาท ให้แก่ไอทีวี และชำระค่าตอบแทนส่วนต่าง จำนวน 2,886,712,328.77 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำนวน 3,632,876.77 บาท รวมเป็นเงินที่ไอทีวีต้องชำระให้แก่ สปน. จำนวน 2,890,345,205.48 บาท

แต่เมื่อไอทีวีและสปน. ต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่กันเป็นเงิน 2,890,345,205.48 บาท เท่ากัน สามารถหักกลบลบกันแล้วต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน

29 เมษายน 2559 สปน.เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างเหตุว่า คำชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อสัญญาเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

17 ธันวาคม 2563 ศาลปกครองกลางได้พิจารณาข้อพิพาทและพิพากษาว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบด้วยกฎหมาย มีผลบังคับใช้ได้ ไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอน ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

5 มกราคม 2564 สปน.ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางไปที่ศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ. 54/2564 ปัจจุบันคดีนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

เปิดแผนปลุกผีไอทีวี คืนชีพธุรกิจสื่อ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุดหลังจากไอทีวีได้รับคําชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว ในปี 2559 ก่อนที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเข้ามาสู่การเมือง ไอทีวีก็ได้วางแผนการลงทุนของบริษัทอีกครั้ง

หนึ่งในนั้น คือ การเข้าร่วมลงทุนในสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิตอล โดยในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 ในวาระที่ 7.3 เรื่อง การพิจารณาแนวทางการดําเนินกิจกรรมหลังจากได้รับคําชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนี้

ประธานได้แถลงต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมการเห็นสมควรเสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรับทราบเรื่องการพิจารณาแนวทางการดําเนินกิจการของบริษัทภายหลังจากได้รับคําชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการที่คณะกรรมการได้ดําเนินการไปแล้ว ดังนี้

ภายหลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคําชี้ขาดในคดีข้อพิพาทหมายเลขดําที่ (เป็นคดีข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 1/2559) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ซึ่งตัดสินว่า สปน. บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดําเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

บอร์ดจ้างที่ปรึกษากฎหมายวางแผนลงทุน "ไอทีวี"

คณะกรรมการบริษัทได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยมส์ ให้ทําการศึกษาและวางแผนโครงสร้างการลงทุนที่เหมาะสมของบริษัท เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้เข้าใจและรับทราบรายละเอียดการทํางานของคณะกรรมการ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงขอรายงานเรียงตามลําดับเวลา ดังนี้

ปลายเดือนเมษายน 2559 บริษัทได้รับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมาย ระบุว่า บริษัทสามารถดําเนินการเรื่องการลงทุนได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย มีความเสี่ยงเฉพาะในเรื่องผลประกอบการและสถานะของกิจการที่จะเข้าไปลงทุน

ช่วงเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนสิงหาคม 2559 คณะกรรมการได้พิจารณาและวิเคราะห์ โครงสร้างการลงทุนของบริษัทที่มีความเหมาะสม เพื่อสรรหาโครงสร้างการลงทุนที่จะเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นในหลากหลายรูปแบบ

เดือนพฤศจิกายน 2559 สรุปเรื่องโครงสร้างการลงทุน โดยบริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกจะเป็นผู้ลงทุนในแนวทางและกรอบการลงทุนที่บริษัทได้ศึกษาและกําหนดไว้

แผนลงทุนไอทีวี

“ไอทีวี” เจรจาเพิ่มทุนทีวีดิจิทัล 300 ล้าน

เดือนมกราคม 2560 ได้รับข้อเสนอทางธุรกิจจากบริษัทเป้าหมาย ซึ่งประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิตอล ต้องการเพิ่มทุนจดทะเบียนให้บริษัทเข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 ในวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท

การประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ทีมผู้บริหารของบริษัทเป้าหมายเข้ามานําเสนอและอธิบายแผนธุรกิจและกลยุทธ์ของบริษัทต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท

การประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 คณะกรรมการบริษัทได้ประชุมเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับข้อเสนอทางธุรกิจของบริษัทเป้าหมาย ภายหลังที่ได้หารือร่วมกัน โดยวิเคราะห์ถึงสภาพตลาด การแข่งขัน และข้อดีข้อเสียของการเข้าลงทุนตามข้อเสนอของ บริษัทเป้าหมายอย่างรอบคอบแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า บริษัทไม่สามารถตอบรับข้อเสนอทางธุรกิจของบริษัทเป้าหมายได้ เนื่องจาก

1. ธุรกิจสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก มีผู้ประกอบการรายที่เป็น ผู้นําตลาดเท่านั้นที่จะพอสร้างกําไรได้

2. มีความไม่แน่นอนในการประมาณการรายได้ในอนาคตของบริษัทเป้าหมาย ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากสมมุติฐานใด และไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอที่จะทําให้เชื่อถือได้ว่า บริษัทเป้าหมายจะสามารถเติบโตและสร้างรายได้ตามที่ได้คาดการณ์ไว้

3. มีความกังวลเรื่องการบริหารเงินลงทุน เนื่องจากบริษัทเป้าหมายมุ่งเน้นในการนําเงินเพื่อ เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท (working capital) ซึ่งอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่บริษัทในระยะยาวได้

4. บริษัทเป้าหมายมีภาระหนี้สินในระดับสูง จึงยังไม่เห็นความเป็นไปได้ว่า หากบริษัทตอบรับข้อเสนอทางธุรกิจดังกล่าวและใส่เงินลงทุนเข้าไปแล้ว บริษัทเป้าหมายจะสามารถ บริหารเงินลงทุนจนสามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้ในระยะเวลาอันใกล้

อนุมัติกรอบเงินลุงทุน “ไอทีวี” ไม่เกิน 1 พันล้าน

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการเรื่องดําเนินการลงทุนของบริษัท คณะกรรมการจึงได้ร่วมกันพิจารณากําหนดทิศทางการลงทุนของบริษัทให้เป็นรูปธรรม โดยมีมติกําหนดกรอบการลงทุน ดังต่อไปนี้

  • ขนาดของการลงทุน: วงเงินลงทุนสูงสุดไม่เกิน 1,000 ล้านบาท
  • กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย: ธุรกิจด้านเทคโนโลยี มีเดีย และเทเลคอม (TMT) เนื่องจากเป็น กลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล และบริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มอินทัชที่มีความเชี่ยวชาญในกลุ่มธุรกิจ TMT บริษัทมองว่าเป็นประโยชน์ในเรื่องของโอกาสในทางธุรกิจ
  • สัดส่วนในการลงทุน: ไม่ได้กําหนดสัดส่วนแต่จะลงทุนเฉพาะในธุรกิจที่เปิดดําเนินการแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ บริษัทจะทําการคัดเลือกและแต่งตั้งบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนที่มีความน่าเชื่อถือและมี ชื่อเสียง เพื่อมาให้คําปรึกษาในการสรรหาบริษัทเป้าหมายและการดําเนินการอื่น ๆ ที่จําเป็น

เช่น การวิเคราะห์ศักยภาพและการลงทุน การศึกษารายละเอียดรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม และการดําาเนินการเกี่ยวกับขั้นตอนและประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อการทํา due diligence ในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาและคัดเลือกที่ปรึกษาการลงทุน หลังจากที่บริษัทแต่งตั้ง ที่ปรึกษาการลงทุนเรียบร้อยแล้วก็จะดําเนินการหาธุรกิจเป้าหมายเป็นลําดับต่อไป

รายงานผลพิจารณาทางเลือกลงทุน “ไอทีวี” ต่อผู้ถือหุ้นปี 61

ต่อมาในการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีปี 2561 ในวาระที่ 8.3 ไอทีวีได้รายงานผลการพิจารณาเพื่อการลงทุนและหาทางเลือกในการดำเนินกิจการของบริษัทต่อไป ในที่ประชุมรับทราบในวาระที่ 8.3 ดังนี้

ประธานได้แถลงต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมการเห็นสมควรเสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรับทราบรายงานผลการพิจารณาเพื่อการลงทุนและหาทางเลือกในการดําเนินกิจการของบริษัทที่คณะกรรมการได้ดําเนินการไปแล้ว ดังนี้

หลังจากที่บริษัทได้รับคําชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการในต้นปี 2559 และได้ศึกษาข้อกฎหมายจนได้ความชัดเจนว่า แม้ สปน. จะยื่นคําร้องขอเพิกถอนคําชี้ขาดต่อศาลปกครองกลาง แต่ในปัจจุบัน โดยผลของกฎหมาย ถือว่าบริษัทไม่มีภาระหนี้ที่จะต้องชําระให้แก่ สปน. บริษัทก็พยายามทําเนินการในเรื่องแสวงหาโอกาสในการลงทุนเพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นมาโดยตลอด

โดยในช่วงปี 2559 บริษัทได้ดําเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างการลงทุน และได้รับข้อเสนอจากบริษัทหนึ่ง ซึ่งประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิตอล แต่เมื่อบริษัทได้วิเคราะห์ถึงสภาพตลาด การแข่งขัน และข้อดีข้อเสียของการเข้าลงทุนตามข้อเสนอของบริษัทเป้าหมาย โดยรอบคอบแล้ว บริษัทไม่สามารถตอบรับข้อเสนอทางธุรกิจของบริษัทเป้าหมายได้ และได้พิจารณากําหนดกรอบการลงทุนของบริษัท

รวมทั้งเร่งดําเนินการสรรหาและแต่งตั้งที่ปรึกษาการลงทุนของบริษัท ซึ่งรายละเอียดและเหตุผลต่าง ๆ บริษัทได้เคยรายงานให้แก่ผู้ถือหุ้น ทราบในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจําปี 2560 และมีบันทึกอยู่ในรายงานการประชุมที่บริษัทได้จัดส่งให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกท่าน พร้อมหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจําปี 2561 ประมาณเดือนมีนาคมและเมษายน 2560 บริษัทได้ทําการศึกษาความเป็นไปได้ของแนวทางการลงทุน 3 แนวทาง ดังนี้

ศึกษาความเป็นไปได้ 3 แนวทางการลงทุน “ไอทีวี”

แนวทางที่หนึ่ง เป็นการลงทุนโดยตรงในฐานะผู้ประกอบกิจการ คือบริษัทอาจมองหา ธุรกิจและลงทุนเปิดคําเนินการด้วยตนเอง

แนวทางที่สอง เป็นการลงทุนทางอ้อมในฐานะนักลงทุน ผ่านกองทุนส่วนบุคคล หรือ Private Fund ซึ่งแนวทางนี้ เป็นการลงทุนที่บริษัทเลือกใช้ดําเนินการอยู่ในปัจจุบัน

แนวทางที่สาม เป็นการมองหาบริษัทเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบกิจการในกลุ่มธุรกิจ Telecom Media และ Technology ซึ่งเปิดดําเนินกิจการอยู่แล้ว และเข้าหาโอกาสเข้าไปร่วมลงทุนในการศึกษาถึงแนวทางการลงทุนดังกล่าว

 บริษัทได้พิจารณาถึงสภาวการณ์ปัจจุบันของบริษัทในเรื่องต่างๆ ได้แก่

  • คดีความคงค้างของบริษัท
  • ปัจจัยความเสี่ยงในเรื่องความสําเร็จในการลงทุน และสถานภาพของบริษัทในปัจจุบัน
  • และที่สุดบริษัทต้องยอมรับว่า การที่บริษัทจะดําเนินการลงทุนโดยตรงในฐานะผู้ประกอบ กิจการตามแนวทางที่หนึ่งมีความเป็นไปได้ยาก เพราะในปัจจุบันบริษัทไม่มีทรัพยากรและ บุคลากรที่จะเป็นกําลังในการเริ่มต้นทําธุรกิจใหม่

นอกจากนั้น การเริ่มประกอบกิจการใหม่ด้วยตนเองจะต้องใช้เงินลงทุนสูง เมื่อคํานึงถึงสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน หากบริษัทนําเงินที่บริษัทมีอยู่ไปลงทุนทําธุรกิจใหม่ แทนที่จะเป็นโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทน อาจกลายเป็นการเพิ่มภาระความเสี่ยงให้แก่บริษัทและผู้ถือหุ้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการบริษัทจึงมีความเห็นว่า บริษัทควรพิจารณาดําเนินการศึกษาเพื่อการลงทุนในแนวทางที่สาม คือ การมองหาบริษัทเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบกิจการในกลุ่มธุรกิจ Telecom Media และ Technology ซึ่งเปิดดําเนินกิจการอยู่แล้ว และเข้าหาโอกาสเข้าไปร่วมลงทุน ภายใต้กรอบการ ลงทุนที่บริษัทเคยกําหนดไว้

จ้าง บลจ.ภัทร ที่ปรึกษาการลงทุน “ไอทีวี”

ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการบริษัทได้ดําเนินการคัดเลือกที่ปรึกษาการ ลงทุนเพื่อมาช่วยในการแสวงหาและคัดเลือกบริษัทเป้าหมายให้แก่บริษัท โดยมุ่งเน้นในการ สรรหาบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนที่มีชื่อเสียงและมีผลงานวามสําเร็จในการทํางานให้กับ องค์กรขนาดใหญ่

ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาและมีมติคัดเลือกและแต่งตั้ง บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จํากัด เป็นที่ปรึกษาการลงทุนของบริษัท เนื่องจากข้อเสนอการให้บริการและค่าธรรมเนียมของ บลจ.ภัทร เป็นประโยชน์มากกว่าเมื่อเทียบกับข้อเสนอจากที่ปรึกษาการลงทุนอื่น

เมื่อ บลจ. ภัทร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาการลงทุนจากบริษัทแล้ว บลจ. ภัทร ได้ทํางานร่วมกับบริษัท และมีการประชุมร่วมกันหลายครั้งเพื่อพิจารณาข้อดี ข้อเสียในการลงทุน ผลตอบแทนและความเสี่ยงต่างๆ

เมื่อ บลจ. ภัทร ได้เข้าใจถึงความต้องการและนโยบายของบริษัท รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของบริษัทแล้ว บลจ.ภัทร ได้ไปดําเนินการสรรหาบริษัทเป้าหมาย และจัดทําการวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจของบริษัทเป้าหมายเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติม ให้แก่บริษัททราบถึงแนวโน้มทางธุรกิจในอนาคตของบริษัทเป้าหมาย

แผนปลุกผี ไอทีวี ลงทุนธุรกิจสื่อ

บอร์ดไอทีวี มีมติเจรจา 3 บริษัทเป้าหมาย

โดยในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 บลจ. ภัทร ได้นําเสนอบริษัทเป้าหมายจํานวน 3 รายให้แก่คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอย่างเป็นทางการ พร้อมรายงานวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจและแนวโน้มของผลประกอบการในอนาคต

หลังจากที่คณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าบริษัทเป้าหมายที่ บลจ. ภัทร นําเสนอทั้งสามรายนั้น ตรงกับกรอบการลงทุนที่บริษัทได้กําหนดไว้ จึงมีมติเห็นชอบให้บลจ.ภัทร ดําเนินการนัดหมายเพื่อเจรจาการร่วมลงทุน

แต่กลับปรากฏว่า บริษัทกลับไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทเป้าหมายทั้งสามราย เพราะบริษัทยังมีคดีความคงค้างกับ สปน. และปัญหาที่สําคัญที่สุด คือ ข้อจํากัดเกี่ยวกับสถานะของบริษัทที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือทางธุรกิจแก่บริษัทเป้าหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน การถ่ายทอดประสบการณ์ หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ตาม

เนื่องจากบริษัทเป้าหมายที่มีศักยภาพส่วนมากมักจะมีผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนจึงมักจะเลือกร่วมลงทุนกับบริษัทที่มีศักยภาพที่จะช่วยต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ตนเองได้

บลจ. ภัทร จึงให้คําแนะนําแก่บริษัทว่า หนทางที่บริษัทจะประสบความสําเร็จจากการที่ร่วมลงทุน ในบริษัทเป้าหมายก็อาจเป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะข้อจํากัดของบริษัทเป็นอุปสรรคสําคัญในการ ตัดสินใจร่วมลงทุนของบริษัทเป้าหมายที่มีศักยภาพดี และหากบริษัทจะมุ่งแสวงหาบริษัทเป้าหมายใหม่ที่ไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับสถานะของบริษัท และไม่ได้ต้องการความร่วมมือทางธุรกิจ

โดยต้องการเพียงเงินลงทุนอย่างเดียวก็จะทําให้บริษัทมีความเสี่ยงในเรื่องการควบคุมการบริหารงานของบริษัทเป้าหมาย และหากบริษัทตัดสินใจเสี่ยงเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มองไม่เห็นถึงศักยภาพของการทําธุรกิจ อาจทําให้เงินลงทุนของบริษัทมีความเสี่ยงที่จะด้อยค่าลง รวมถึงไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุนที่ต้องการรักษาเงินทุนของบริษัทไว้ให้มากที่สุด

นอกจากนี้ บลจ.ภัทร ยังได้ทําการศึกษาและการวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับบริษัทมานําเสนอให้บริษัทพิจารณา ซึ่งผลการศึกษาของ บลจ.ภัทร พบว่า รูปแบบการลงทุนในลักษณะ Private fund มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ของบริษัทในปัจจุบันเพราะมีความปลอดภัยและเป็นประโยชน์สําหรับผู้ถือหุ้นของบริษัทมากกว่าการลงทุนในแนวทางอื่น โดยอัตราผลตอบแทนที่บริษัทได้รับในปัจจุบันก็มีความเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่บริษัทสามารถยอมรับได้

ด้วยเหตุนี้ ทางคณะกรรมการบริษัทจึงมีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการบริหารเงินสดของบริษัทในรูปแบบกองทุนส่วนบุคคลต่อไปตามเดิมไปก่อน จนกว่าปัจจัยข้อจํากัดต่าง ๆ ของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไป

แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่า หากคดีความของบริษัทสิ้นสุดลง ก็อาจทําให้บริษัทกลับมาได้รับความสนใจจากบริษัทเป้าหมายในการที่จะเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทได้ และถึงแม้ว่าบริษัทจะยังไม่สามารถค้นหาธุรกิจที่ดีและที่มีความสนใจจะเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทในขณะนี้ได้

แต่บริษัทยังคงเปิดกว้างที่จะศึกษาและค้นหาการลงทุนในแนวทางอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ของบริษัทในอนาคตอยู่ตลอดเวลา และหากมีความคืบหน้า จะนําเรียนต่อผู้ถือ หุ้นในโอกาสต่อไป หรือหากท่านผู้ถือหุ้นมีข้อแนะนําประการใด บริษัทก็ยินดีที่จะรับข้อเสนอแนะจากผู้ถือหุ้นมาพิจารณา

แผนปลุกผีไอทีวี

กระทั่ง ในการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีในปี 2566 เมื่อวันที่ 26 เมษา 2566 นายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือไอทีวีได้สอบถามว่า "บริษัทไอทีวี มีการดำเนินการด้านสื่อหรือไม่" โดยคำตอบจากประธานในที่ประชุมที่ระบุในบันทึกการประชุมระบุว่า "ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ" แต่ไม่ตรงกับคลิปการประชุมที่ประธานในที่ประชุม ระบุว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ" จนกลายมาเป็นประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้