"ดร.เจษฎ์" พลิกเหรียญอีกด้าน ปม "คลิปหุ้นITV" 

13 มิ.ย. 2566 | 16:26 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2566 | 19:02 น.
543

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ พลิกเหรียญอีกด้าน ปม "คลิปหุ้นITV" หลังปรากฏคลิปบันทึกการประชุม ขัดแย้งเอกสารบันทึกรายงานการประชุม พร้อมชี้ความต่างน้ำหนักพยานหลักฐาน

จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ซึ่งมีการตอบคำถามแก่นายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น ITV ที่ได้สอบถามว่า "บริษัทไอทีวี มีการดำเนินการด้านสื่อหรือไม่" โดยคำตอบจากประธานในที่ประชุม ระบุว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน" 

แต่ไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ที่ระบุคำตอบของประธานในที่ประชุมแก่นายภาณุวัฒน์ ว่า “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” 

ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ถึงความสำคัญของพยานหลักฐาน ที่ปรากฏเกี่ยวข้องกับกรณี "พิธา" ถือหุ้นสื่อ ในขณะนี้

"วัตถุพยานที่เป็นคลิปนั้น ผู้พูด และผู้รับรองรายงานการประชุมเป็นคนคนเดียวกัน นั่นหมายความว่าเป็นการรับรองว่าตนพูดเช่นที่ปรากฎในรายงานจริง จึงทำให้สิ่งที่ปรากฏในคลิปมีปัญหา จึงอาจจำเป็นที่จะต้องมีพยานบุคคลมายืนยันในสิ่งที่เกิดขึ้น" อ.เจษฎ์ กล่าว

และได้อธิบายถึงหลักในการพิจารณาพยาน หลักฐานในคดีว่า โดยหลักแล้ว ศาลจะให้ความสำคัญกับพยานเอกสาร และพยานวัตถุก่อน หากหาไม่ได้จึงจะไปพิจารณาพยานบุคคล หรือใช้พยานบุคคลเป็นพยานเสริม หรือเพื่อการอธิบาย

ดังนั้นในขณะนี้ ที่ปรากฏคลิปบันทึกการประชุม ที่ไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุมนั้น ถือเป็นการขัดกันของพยานหลักทั้งคู่ ก็ต้องพิจารณาว่าความขัดหรือแย้งกันนั้น เกิดขึ้นเพราะอะไร และอันไหนมีความน่าเชื่อถือกว่ากัน

หากวัตถุพยานเป็นการพูดของบุคคล ก็อาจถือว่าความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับของพยานบุคคล เพราะคน เป็นผู้พูด ในขณะที่พยานเอกสารมีการบันทึกชัดเจน มีการลงนามว่าใครเป็นผู้บันทึก มีการลงนามรับรองรายงานการประชุม และผู้รับรองเป็นผู้ที่พูดในคลิปนั้นด้วยตัวเอง เช่นนี้จะทำให้พยานวัตถุที่เป็นคลิปมีปัญหา

แต่หากพบว่า คลิปที่ปรากฏเป็นการพูดในคนละเรื่อง คนละช่วงตอนกับที่บันทึกในรายงานประชุม ก็จะกลายเป็นว่าทั้งคลิป และเอกสารไม่ได้ขัดหรือแย้งกัน โดยพยานบุคคลต้องอธิบายได้ว่าคลิปเกิดขึ้นจากช่วงตอนไหนอย่างไร และสิ่งที่บันทึกการประชุมเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างกันอย่างไร หรืออาจมีการเรียกดูเอกสารจริงที่ หรือเอกสารที่ไม่คลาดเคลื่อน เพื่อยืนยันว่าเอกสารอีกฉบับเป็นเอกสารเท็จ หรือคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง

สำหรับความแตกต่างระหว่าง การบันทึกการประชุมคลาดเคลื่อน และบันทึกการประชุมเท็จนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะหากเป็นการบันทึกคลาดเคลื่อน โดยอาจเกิดจากผู้จดไม่มีสมาธิ จดผิดจดคลาดเคลื่อน เช่นนี้ไม่มีความผิด

แต่หากบันทึกเท็จ คือการจดบันทึกในเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่มีผู้พูดเช่นนั้นเลย เป็นต้น เช่นนี้จะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งการเป็นเอกสารเท็จนั้นก็ต้องดูต่อว่าเท็จในขั้นไหน เป็นเอกสารที่ไม่เคยได้ทำขึ้นมาเลยแต่สร้างขึ้นมาเอง ก็ถือเป็นเอกสารปลอม หรือเป็นเอกสารจริง แต่ใส่ข้อความอันเป็นเท็จ ก็ต้องไปว่ากันต่อไป

ทั้งนี้ การพิจารณาว่านายพิธา ถือหุ้นสื่อหรือไม่นั้น ต้องมีการพิจารณาในหลายส่วน ทั้งการถือหุ้นในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกก่อนโอนหุ้น ว่าเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมหรือไม่ มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดกับกองมรดก มีส่วนได้ในกองมรดกด้วยหรือไม่ ซึ่งในกรณีคุณพิธา เป็นการถือหุ้นสื่อแทนผู้ได้รับมรดกคนอื่นๆและรวมถึงตนเองด้วย

ส่วนการโอนหุ้นให้กับทายาทอื่นแล้วนั้น อ.เจษฎ์ระบุว่า หากเป็นเพียงการ "โอนหุ้น"ต้องถือว่ามีผล ณ วันโอนเท่านั้น ไม่มีผลย้อนหลังไปแต่อย่างใด แต่หากเป็นการ"สละมรดก" จะมีความหมายย้อนไปจนถึงวันที่เจ้ามรดกเสียชีวิตด้วย ว่าผู้สละมรดกนั้น ไม่ได้รับมรดกมาตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกเสียชีวิต

ซึ่งการสละมรดกต้องสละทั้งหมด ไม่สามารถเลือกสละมรดกเพียงบางรายการ และไม่สามารถกำหนดเงื่อนเวลาได้ โดยวิธีสละมรดกต้องทำเป็นหนังสือต่อนายทะเบียน หรือทำสัญญาประณีประนอมต่อทายาทอื่นว่าไม่ประสงค์รับมรดก

และแม้จะเป็นการสละมรดกก็ตาม กรณีการถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) ย่อมมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้นหากวันที่สมัครรับเลือกตั้งนั้น ถือหุ้นสื่ออยู่ ก็ไม่สามารถนำกฎหมายเรื่องสละมรดกมาหักล้างได้ 

ส่วนกรณีหุ้นที่ถือนั้นเป็นสื่อหรือไม่ อ.เจษฎ์ อธิบายว่า การพิจารณาว่าบริษัทประกอบกิจการใดนั้น สามารถดูได้จากวัตถุประสงค์การจดจัดตั้งบริษัท หรือหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งมีความกว้างที่สุด โดยมากมักเขียนไว้อย่างกว้างๆหลายประเภทกิจการ ต่อมาก็จะแคบลงมาที่กิจการที่ประกอบเป็นหลัก 4-5 ข้อ และดูการประกอบกิจการจริง ดูได้จากงานที่ปรากฏ หรือเอกสารงบการเงิน เอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง เอกสารการประชุม ท้ายสุดคือ ดูจากเอกสารการเสียภาษี ว่ามีรายละเอียดที่ชี้ว่าประกอบกิจการสื่อหรือไม่