สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องคนไทยกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จำนวน 1,352 คน ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2566 โดยเมื่อสอบถามว่า ประชาชนมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ 67.83% ตอบว่า มีความกังวล
ทั้งนี้ผู้ที่ตอบว่ากังวล มีเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้ เพราะกลัวว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน, พรรคที่ได้เสียงข้างมากอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล, พรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน, เล่นเกมการเมืองมากเกินไป, กังวลการโหวตของ ส.ส. และ ส.ว. และอื่น ๆ
ส่วนที่เหลือ 32.17% ซึ่งระบุว่า ไม่มีความกังวล มีเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้ เพราะให้เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย เชื่อมั่นว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้, น่าจะตกลงร่วมกันได้ลงตัว, การจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เคารพสิทธิ ซึ่งกันและกัน และอื่น ๆ
ขณะเดียวกันเมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 58.33% ตอบว่า ไม่เชื่อมั่น ส่วนที่เหลืออีก 41.67% ตอบว่าเชื่อมั่น
คนไทยติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น
เมื่อถามว่า จากการเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนสนใจติดตามข่าวการเมืองมากขึ้นหรือไม่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 72.63% ตอบว่า ติดตามการเมืองมากขึ้น รองลงมา 21.30% ระบุว่า ติดตามเท่าเดิม โดยมีเพียง 6.07% ระบุว่า ติดตามน้อยลง
คนยังเครียดปัญหาปากท้อง-ค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้เมื่อถามว่า ณ วันนี้ ประชาชนรู้สึกเครียดกับเรื่องใดมากที่สุด พบว่า อันดับ 1 กังวลเรื่องปากท้องและค่าใช้จ่าย 52.14% รองลงมาอันดับ 2 กังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล 51.90% อันดับ 3 กังวลเรื่องค่าน้ำมัน/ค่าไฟ 48.31% อันดับ 4 กังวลเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ 44.35% และอันดับ 5 กังวลเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี 43.14%
อย่างไรก็ตามเมื่อมีความรู้สึกเครียดมากขึ้น ประชาชนแก้ปัญหาอย่างไร พบว่า อันดับ 1 คุยกับเพื่อน/คนรัก/คนที่ไว้ใจได้ 46.38% อันดับ 2 พักผ่อนให้มากขึ้น 42.88% อันดับ 3 คุยกับคนในครอบครัว 34.04% อันดับ 4 ดูหนัง/ซีรี่ส์/ฟังเพลง 32.22% อันดับ 5 ออกกำลังกาย 28.87%