ข้อคิดสะกิดเตือน“รัฐบาลก้าวไกล”ระวังล่มก่อนเดิน

27 พ.ค. 2566 | 10:00 น.

ข้อคิดสะกิดเตือน “รัฐบาลก้าวไกล” ระวังล่มก่อนเดิน : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย... ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,891

คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,891 ระหว่างวันที่ 28-31 พ.ค. 2566 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** ภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมี “พรรคก้าวไกล” ชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับที่ 1 ได้ 152 เสียง และมีความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จนสามารถรวบรวมพรรคร่วมรัฐบาลอีก 7 พรรค รวมเป็น 8 พรรค เป็นรัฐบาล 313 เสียง ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรค ขึ้นแท่นสู่เก้าอี้ “นายกฯ คนที่ 30”

*** สำหรับไทม์ไลน์ที่จะนำไปสู่การเห็นโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ หรือ “รัฐบาลก้าวไกล” นั้น ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 23พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แจกแจงไทม์ไลน์อย่างเร็วในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้ วันที่ 13 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลเลือกตั้ง หากเกิดความล่าช้าคงเกิดจากการร้องเรียน

หลังจากนั้น วันที่ 20 ก.ค. ครม.จะพิจารณาพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาฯ และจะเป็นวันสุดท้ายที่ให้ส.ส.รายงานตัว จากนั้นวันที่ 24 ก.ค. มีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 25 ก.ค.มีการเลือกประธานสภาฯ วันที่ 26 ก.ค. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ

ขณะที่ 3 ส.ค. จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ถัดไปวันที่ 10 ส.ค. จะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และ วันที่ 11 ส.ค. จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณตน อันถือเป็นการทำงานวันสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีรักษาการ 

*** นับจากนี้ไปอีกราว 2 เดือนครึ่ง ถึงจะเห็นโฉมหน้า “รัฐบาลใหม่” ถือว่ายาวนานพอสมควร กว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาขับเคลื่อนบริหารประเทศ ที่มีปัญหามากมายรอให้เข้ามาแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ข้าวของราคาแพง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงได้เห็น ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ออกมาเรียกร้องให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้สำเร็จโดยเร็ว

*** อย่าง ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ออกมาเรียกร้องว่า ภาคเอกชนอยากเห็นการตั้งรัฐบาลเร็วไม่สะดุด เพราะหากล่าช้าจะมีความเสียหายต่อการเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งตอนนี้มีภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา ทั้งจากภาคส่งออกที่ประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกา อียู รวมถึงประเทศจีนเศรษฐกิจทรุดตัว ทำให้การว่างงานสูงกระทบคำสั่งซื้อ

อีกทั้งการท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วง Low season ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐไม่สามารถอนุมัติโครงการใหม่ได้ ทั้งหมดเป็นปัจจัยทำให้การบริโภคจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ค่อนข้างเงียบ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการจ้างงาน ส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่น บรรยากาศการลงทุน และอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลเดิมที่เป็นรูปแบบ “อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง” ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว

*** ดร.ธนิต มองว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมของ 8 พรรคเพื่อฟอร์มทีมตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา เป็นการช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็วหลังผ่านการเลือกตั้งเพียง 8 วัน แต่การเห็นรัฐบาลใหม่คงต้องยืดยาวออกไป จนกว่า กกต. จะประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ขึ้นอยู่กับว่า จะประกาศวันใด แต่คงไม่เกินภายในวันที่ 13 ก.ค. 2566 ซึ่งภาคเอกชนหวังว่าคงไม่จำเป็นจะต้องรอยาวขนาดนั้น

และแม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการ แต่ช่องว่างที่เป็น “สุญญากาศทางการเมือง” ยังอึมครึม ในเวลาเช่นนี้การเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการใช้งบประมาณ มีข้อจำกัดค่อนข้างมากโดยเฉพาะข้าราชการหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เข้าเกียร์ว่างรอนายใหม่ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในระดับประเทศ

*** อย่างไรก็ตาม ดร.ธนิต ฝากข้อคิดเตือนใจรัฐบาลใหม่ด้วยว่า MOU หรือ ข้อตกลงร่วมการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งได้ลงนามไปแล้ว เป็นเพียงก้าวแรกของรัฐบาลผสม ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกล จะไปถึงฝั่งได้จริงหรือไม่ ข้อตกลงร่วมส่วนใหญ่เป็นหลักการที่ดี เพียงแต่ในทางปฏิบัติจะทำได้มากน้อยเพียงใด เพราะทั้ง พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย คะแนนสูสี ในทางรัฐศาสตร์รัฐบาลผสมเสียงก้ำกึ่ง ความขัดแย้งจะสูง เพราะต่างชิงไหวชิงพริบ 

*** ดร.ธนิต ฝากความกังวลของเอกชนคือ “ข้อตกลงที่เป็น MOU เป็นแค่กระดาษใบเดียว” ไม่มีกติกาว่าต้องทำ หรือ เลิก แต่ละพรรคมี Agenda ถึงขนาดทำเป็นสัญญาก็ยังบอกเลิก หรือ ไม่ทำตามสัญญาก็ยังเป็นคดีอยู่ในศาลมากมาย

ดังนั้น ภาคธุรกิจคาดหวังว่ากระบวนการจัดตั้งรัฐบาลควรดำเนินไปอย่างเร่งด่วน ประชาชนฝากความหวังไว้มาก ประเทศไทยเป็นสังคมพหุนิยมประกอบด้วยความหลากหลายทางความคิด

“รัฐบาลที่เดินก้าวหน้าเร็วกว่าความคิดความอ่านของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง อาจต้องสะดุด จึงจำเป็นที่ต้องมีความรอมชอม อะไรเร็วไป หรือแรงไป อาจต้องค่อย ๆ ผ่อน มิฉะนั้นอาจล้มก่อนที่จะได้เดินด้วยซ้ำไป”

*** ขณะที่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกมาแสดงความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนจับตามองจากนี้ คือ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อย “ไม่ยืดเยื้อ” เพื่อให้ประเด็นต่างๆ ที่ทุกพรรคได้ตกลงกันไว้ผ่าน MOU สามารถนำไปขับเคลื่อนในเชิงนโยบายและการปฏิบัติได้จริงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการเข้ามาเร่งจัดทำงบประมาณประจำปี เพื่อให้แผนงานและโครงการต่างๆ ของประเทศมีความต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก

หอการค้าฯ มองว่า 313 เสียง จาก 8 พรรค ตอนนี้จุดแข็ง คือ มีเสียงข้างมากในสภาฯ ขณะเดียวกันจุดอ่อนก็คงยังเป็นความไม่แน่นอนว่า จะจัดตั้งรัฐบาลได้ไหม ซึ่งก็ยังคงต้องรอเสียงเพิ่มเติมทั้งจาก ส.ส. และสมาชิกวุฒสภา (ส.ว.) มาทำให้เกิดความแน่นอน ซึ่งเชื่อว่า วันนี้ประเด็นจาก MOU ที่ออกมาน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและทำให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.บางส่วน ให้การสนับสนุนเพิ่มเติมจนจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ 

*** คงต้องรอดูกันไปว่า สเต็ปแรก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะฝ่าด่าน ส.ว. จนขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ได้หรือไม่ ขณะนี้รัฐบาลมีเสียง ส.ส. 312 เสียง ยังต้องการแรงสนับสนุนจากบรรดา ส.ว.อีก 64 เสียง เพื่อให้ถึง 376 เสียง อันจะเพียงพอสำหรับการก้าวขึ้นสู่ผู้นำของประเทศได้ ตามไทม์ไลน์เบื้องต้น 3 ส.ค. 2566 ถึงจะได้รู้กัน...