เผือกร้อนรัฐบาลใหม่ สางหนี้-ลดต้นทุนผลิต อุ้ม "SME"

27 พ.ค. 2566 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2566 | 12:01 น.

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชงรัฐบาลใหม่ช่วยสางปัญหาผู้ประกอบการ SME ทั้งมาตรการปลุกเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ปัญหาต้นทุนผลิต-วัตถุดิบพุ่ง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ แก้หนี้

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ผ่านพ้นไป ทำให้ประเทศไทยพร้อมมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการและคาดหวังจากรัฐบาลนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

คือรัฐบาลใหม่จะต้องออกแบบนโยบายที่บูรณาการทั้งส่วนของงบประมาณ กำลังคน วิธีการทำงาน และผลลัพธ์หรือตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมและกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้งบประมาณจัดสรรที่ได้มาอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับภาคเอกชน

ทั้งนี้สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด และเห็นทิศทางที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลง ผ่านมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME และ เศรษฐกิจฐานรากไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนสามารถ เติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับประเด็นที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งขับเคลื่อนได้แก่

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างความยั่งยืน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการ SME เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เช่นการทบทวนมาตราการเพิ่มจำนวนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการโยกผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปเป็นเป็นผู้ประกอบการและแรงงานทักษะฝีมือท้องถิ่น และมีค่าแรงสูง

2. แก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งเรื่องปัญหาต้นทุน ปัจจัยการผลิต วัตถุดิบต่างๆที่ต้องนำเข้าและมีราคาแพง รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างต้นทุน หรือราคาของน้ำมันและไฟฟ้า พลังงานด้วย

3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำและการแก้หนี้ SME ลดหนี้เสียและหนี้นอกระบบ ยกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือน

4. การเพิ่มขีดความสามารถ สมรรถนะให้กับ SME และแรงงานที่ต้องทำควบคู่กันไป รวมถึงเกษตรกรที่จะต้องยกระดับไปเป็นผู้ประกอบการเกษตรยั่งยืนให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ที่มีทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน และทักษะทางดิจิทัลเทคโนโลยีและนวัตกรรม

5. การแก้กฏระเบียบ ข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการและลดต้นทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ถ้าสามารถปฏิรูป กฏระเบียบต่างๆ ได้จะทำให้หน่วยงานรัฐและเอกชนลดต้นทุนไปได้ปีละกว่า 1.4 แสนล้านบาท

เผือกร้อนรัฐบาลใหม่ สางหนี้-ลดต้นทุนผลิต อุ้ม \"SME\"

“สิ่งสำคัญคือการทำงานในเชิงรุก การบูรณาการและทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคเอกชนและให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพื่อให้จำนวนผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายและมาตรการต่างๆ มีจำนวนมากและรวดเร็วเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก”

นายแสงชัย กล่าวอีกว่า การจัดสรรงบประมาณเป็นประเด็นที่ควรทำตั้งแต่ต้นทาง โดยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงบประมาณจะต้องมีระบบบล็อกเชนในการเชื่อมโยงกัน และโครงการต่างๆที่มีความซ้ำซ้อนหรือใกล้เคียงกันต้องจับมาซินเนอยี่กัน ทั้งตัวชี้วัด กระบวนการ จำนวนคนและงบประมาณ อย่างมีการบูรณาการ เพื่อให้สามารถใช้เงินน้อยแต่ได้งานมาก

“การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นประเด็นที่ทำให้ SME ไทยเติบโตได้ช้า ซึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME จำนวนมากที่ประสบปัญหาจากโควิดตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสร้างความยั่งยืนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจะต้องทำให้ผู้ประกอบการมีวินัยทางการเงิน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความตะหนัก การบ่มเพาะ รวมถึงกฏเกณฑ์ต่างๆ

อย่างไรก็ดีภาครัฐจะต้องสร้างและบ่มเพาะผู้ประกอบการ SME ให้สามารถเข้าระบบธนาคารพาณิชย์ได้ แต่ในระหว่างนั้นควรมีระบบกองทุนที่มาให้แต้มต่อให้ผู้ประกอบการ SME เพราะการให้ผู้ประกอบการ SME ไปใช้เงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง 20-30% ต่อปี ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม โดยเฉพาะในสภาวะขณะนี้ที่ผู้ประกอบการ SME ยังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องต้นทุน วัตถุดิบ พลังงาน รวมถึงปัจจัยการผลิตต่างๆที่ถาโถมเข้ามา รวมถึงภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ”

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,889 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566