ปชป.ชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ เปิดทาง SME เข้าตลาดหุ้น

24 เม.ย. 2566 | 13:08 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2566 | 13:15 น.

ทีมเศรษฐกิจ ปชป. ชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ ปรับโครงสร้างตลาดเงินตลาดทุน เปิดทาง SME ศักยภาพกว่าแสนรายเข้าตลาดหุ้น เชื่อมคนกลุ่มบนสนับสนุนคนกลุ่มล่าง ลดความเหลื่อมล้ำ

วันนี้( 24 เม.ย. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว วาระประเทศไทย ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “ปชป.ชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ” นำโดย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.คลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว. ศศิพฤนท์  จันทรทัต อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์  กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ และ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ 

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์  กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ การสร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ ผ่านกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาพลังงานสูงขึ้น 

ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ ผลกระทบจาก Covid-19 ไปจนถึงผลกระทบจากปัญหาภายนอกประเทศ เช่น วิกฤตธนาคารพาณิชย์ในยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของ GDP ไม่น้อยกว่า 5% โดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะผ่านกลไกและและมาตรการต่างๆ อาทิ 

                               ทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์

การปรับโครงสร้างตลาดเงินตลาดทุน พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนให้การระดมทุนผ่าน IPO ง่ายขึ้น จะไม่จำกัดขนาด ฐานะการเงิน หรือ ผลประกอบการ โดยให้เน้นเพียงการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ (full disclosure) ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เพียงแค่หลักพัน แต่มีบริษัทอีกกว่าหลักแสนที่ต้องการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แต่ไม่สามารถทำได้ 

จัดให้มีตลาดหลักทรัพย์หลากหลายรูปแบบสำหรับสินค้าทางการเงินหลายประเภท รวมไปถึงสนับสนุน crowdfunding ให้กระจายลงไปถึง SME กลุ่ม start up และกลุ่มฐานรากที่ได้ปรับเป็นนักธุรกิจแล้ว เพื่อเชื่อมผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง 

ดังนั้น ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์จะต้องสร้างกติกาให้บริษัทเหล่านี้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ตลาด mai ได้โดยง่าย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นรัฐบาลก็สามารถจัดเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ ซึ่งเดิมอาจจะเลี่ยงหรือไม่ได้เสียภาษี และแม้รัฐบาลจะไม่ใช่เจ้าของเงินแต่จะบริหารภาษีเหล่านี้ไปเพิ่มสวัสดิการให้กับกลุ่มฐานราก เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการ SME ค้าขาย อาชีพอิสระ และรับจ้างทั่วไป จะเป็นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางอาชีพและกิจการของคนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างแท้จริง 

“เราต้องการหาเงินก่อนที่จะใช้เงิน ด้วยระบบเศรษฐกิจทั้งหมดที่จะทำเงินให้กับรัฐบาลไปจับจ่ายใช้สอย ก็คือ ภาษี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องการทำให้ฐานของผู้เสียภาษีใหญ่ขึ้น โดยปัจจุบันโครงสร้างประชากรเป็นรูปปิรามิด ด้านล่างสุดคือกลุ่มฐานรากที่มีความเปราะบาง ความพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ผ่านมาเป็นไปได้ยาก 

ฉะนั้น ต้องเชื่อมให้คนกลุ่มบนมาสนับสนุนคนกลุ่มล่าง กลุ่มบนเป็นผู้มีรายได้สูงและมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ เราจะส่งเสริมสนับสนุนให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยการที่ผลักดันให้ SME หรือบริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น จากเดิมอาจจะเลี่ยงหรือไม่ได้เสียภาษีให้กลับ มาเป็นฐานภาษี ซึ่งภาษีที่ได้มาก็จะลงมาในกลุ่มฐานราก 

จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก กลุ่มที่พร้อมจะกลายเป็นนักธุรกิจ ใส่เงินเข้าไป ใส่วิชาการ ใส่โนฮาวเข้าไปกลายเป็น SME ในอนาคตที่พร้อมเสียภาษีได้อีก และส่วนที่ 2.กลุ่มที่ยังขาดศักยภาพ เราต้องใช้สวัสดิการของรัฐใส่เข้าไป” ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าว

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ จะเร่งรัดให้สถาบันการเงินเข้าสู่ digitize banking system โดยเร็ว อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ลดค่าใช้จ่าย มีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม สามารถลดส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระของลูกหนี้ และก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ฝากเงิน 

จะมีการสนับสนุนจัดตั้ง Post Office and Microfinance Bank เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนเข้าสู่กลุ่มฐานรากและ SME ทั่วประเทศ จะพัฒนาประเทศให้เป็น Financial Center โดยสร้างศูนย์กลางทางการเงินระดับภูมิภาคให้สามารถรองรับการระดมเงินทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนจากกลุ่มจีน ซาอุดิอาระเบีย และตะวันออกกลาง ซึ่งจะต้องออกกฎหมายพิเศษรองรับ ให้สิทธิพิเศษทางการค้า ทางภาษี การนำเข้าบุคลากร

เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าประเทศได้ 
รวมถึงสนับสนุนการระดมทุนขนาดใหญ่ Infrastructure Fund จากระบบเงินฝากในสถาบันการเงิน  ปัจจุบันมีกว่า 18 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงินที่ล้นระบบอยู่ไม่ต่ำกว่า 30% หากนำออกมาเพียง 10% สามารถนำไปใช้ลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ 

พร้อมกับสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ให้กระจายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ให้สิทธิพิเศษจาก BOI เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีส่วนรวมในการผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นนั้นๆ ได้ 

                     ม.ร.ว. ศศิพฤนท์  จันทรทัต

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวต่อว่า ในส่วนโครงการธนาคารหมู่บ้านและชุมชน ที่จะกระจายลงไปใน 8 หมื่นหมู่บ้าน/ชุมชน ๆ ละ 2 ล้านบาท นำไปปล่อยกู้ในกับคนในชุมชนเพื่อนำไปทำทุนค้าขาย โดยไม่ต้องมีหลักประกันนั้น จะเป็นการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้แคบลง 

คนที่นำเงินไปฝากจะได้ดอกเบี้ยมากกว่าธนาคารพาณิชย์ ส่วนคนที่กู้เงินก็สามารถกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น Application ซึ่งการทำงานจะไม่เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ เป็น Database ของแต่ละชุมชน สร้างเครือข่ายที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่จะทำให้ฐานการเงิน การคลังเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่

ทั้งนี้ นอกจากการช่วยเหลือทั้งการเงินและโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนในอนาคต และโนฮาวในการทำธุรกิจแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะนำกลไกตลาดเงินมาแก้ไขปัญหาหนี้เสียให้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นหนี้สินจากการกู้ยืมเงินกับ ธ.ก.ส. และไม่สามารถบริหารจนกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมาก 

โดยพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอให้ตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เฉพาะสำหรับเกษตรกรไทย ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการคือซื้อหนี้เสียออกมาจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำหนี้เสียของเกษตรกรมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ เช่นเดียวกับหนี้เสียของผู้ประกอบการรายย่อย SME และกลุ่ม Start Up ก็จะใช้โครงสร้างและหลักการเดียวกัน