เปิด 5 หน่วยงานรัฐ "มท.-ศธ.-คมนาคม-เกษตร-คลัง" ถูกฟ้องศาลปกครองมากสุด

07 มี.ค. 2566 | 14:02 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2566 | 14:13 น.

ศาลปกครองแถลง 22 ปี รับ 198,902 คดี เข้าสู่ระบบ 5 หน่วยงานรัฐ "มท.-ศธ.-คมนาคม-เกษตร-คลัง" ถูกฟ้องมากสุด ปัดไม่มีวิ่งเต้น

วันนี้ ( 7 มี.ค.66) นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความผิดอย่างอื่นในศาลปกครอง แถลงผลงานการพิจารณาคดีด้านการปกครอง ในโอกาสครบรอบ 22 ปี เปิดทำการศาลปกครอง ว่า ภาพรวมการดำเนินงานตลอด 22 ปีจนถึงวันที่ 15 ก.พ.66 รับคดีเข้าสู่การพิจารณา 198,902 คดี เป็นคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น 140,078 คดี และเป็นคดีอุทธรณ์หรือคดีฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด  58,824 คดี 

ทั้งนี้ พบว่า 5 หน่วยงานที่ถูกฟ้องคดีมากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย(มท)  กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)  กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง โดยเรื่องที่ถูกฟ้องคือ เรื่องที่ดิน การบริหารงานบุคคล การเวนคืนที่ดินอสังหาริมทรัพย์ การปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน 

ขณะที่คดีที่เข้าสู่ศาลปกครองนั้นได้พิจารนาแล้วเสร็จ 171,555 คดี คิดเป็นร้อยละ 86 ของคดีที่รับเข้า โดยเป็นคดีในศาลปกครองชั้นต้น 123,831 คดี และศาลปกครองสูงสุด 47,724 คดี มีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 27,347 คดี 

เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น 16,247 คดี แบ่งเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณามี 14,412 คดี อยู่ในขั้นตอนตรวจคำฟ้อง แสวงหาข้อเท็จจริงและสรุปคำฟ้อง คดีที่อยู่ขั้นตอนการจัดทำคำแถลงการณ์ 1,064 คดี

คดีที่อยู่ในขั้นตอนการนั่งพิจารณาคดีและจัดทำคำพิพากษา/คำสั่ง 619 คดี และมี 152 คดีอยู่ระหว่างขั้นตอนการอ่านคำพิพากษา/คำสั่ง 152 คดี

ขณะคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด อีก 11,100 คดี บางเป็นคดีที่อยู่ระหว่างตรวจคำฟ้อง แสวงหาข้อเท็จจริงและสรุปสำนวน จำนวน 6,534 คดี  

คดีที่อยู่ระหว่างจัดทำคำแถลงการณ์ จำนวน 1,750 คดี อยู่ในขั้นตอนการนั่งพิจารณาและทำคำพิพากษา 1,330 คดี และอยู่ในขั้นตอนการตรวจร่างคำพิพากษา/คำสั่ง 1,486 คดี ขณะที่คดีที่มีการยื่นฟ้องผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวม 5,114 คดี 

นอกจากนี้ ศาลปกครองยังได้ส่งเสริมการระงับข้อพิพาทไกล่เกลี่ย โดยกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนและกระชับ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว  เพื่อให้คู่กรณีได้รับความเป็นธรรม โดยตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.62 เป็นต้นมา ที่ศาลปกครองได้นำระบบไกล่เกลี่ยพิพาทในคดีปกปกครองมาใช้ทุกศาลฯทั่วประเทศ พบว่า มีคดรที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลชั้นต้น จำนวน 460 คดี ไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ 152 คดี คิดเป็นร้อยละ 91.52

นายประวิตร ยังยอมรับว่า คดีในศาลปกครองนั้นมีความความล่าช้า แต่นั่นเป็นเพราะขั้นตอนของศาลปกครอง ที่ไม่เหมือนขั้นตอนของศาลยุติธรรมอื่น  โดยกฎหมายกำหนดให้ศาลปกครอง มีการทำงานเป็นองค์คณะ ที่ต้องพิจารณาในแต่ละคดี และองค์คณะต้องอ่านรายละเอียดให้รอบคอบแล้ว 

นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งเป็นตุลาการนอกสำนวนมาให้ความเห็น หลายคดีความเห็นเป็นประโยชน์มากกับองค์คณะ ผลดีคุ้มกับเวลาที่เสียไปแน่ 

เมื่อถามถึงถึงมีกระแสข่าวว่ามีการวิ่งเต้นเรื่องคดีกับศาลปกครองได้ นายประวิตร กล่าวว่า ระบบศาลปกครองเป็นระบบคณะบุคคล ไม่ใช่เป็นรายบุคคล ดังนั้นไม่มีการใช้ตุลาการคนเดียวในคดีนั้นๆ จึงเป็นมาตรการดูแลป้องกันการแทรกแซงได้ระดับหนึ่ง คดีที่เกี่ยวกับตัวบุคคล ศาลก็จะใช้คณะบุคคลพิจารณาเหมือนกัน หรือคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องการให้คุณให้โทษ ดังนั้นโดยระบบศาลปกครอง การชี้ผิดถูกไม่ได้กระทำโดยบุคคลคนเดียว