"ชินวรณ์"เชื่อยุบสภา 15 มี.ค. เลือกตั้ง 7 พ.ค.

08 ก.พ. 2566 | 14:51 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.พ. 2566 | 15:14 น.

"ชินวรณ์"เชื่อ นายกฯ จะยุบสภา 15 มี.ค. เตรียมหย่อนบัตรเลือกตั้ง 7 พ.ค.นี้ แต่ต้องพิจารณากฎหมายค้างสภาให้เสร็จก่อน

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)   แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองช่วงใกล้เลือกตั้ง  โดยคาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะยุบสภาก่อนครบวาระ  อาจเป็นช่วงวันที่ 15 มีนาคม  

หลังจากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะจัดให้มีการเลือกตั้ง 7 พ.ค. แต่จะพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ให้เสร็จก่อน โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงบการเงิน ซึ่งหากฝ่ายค้านรวมเสียงได้มากกว่าฝ่ายรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายลักษณะนี้ นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบและเรื่องดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
 

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปร่วมรัฐบาล

รองประธานวิปรัฐบาล ระบุว่า ขอฝากไปยัง กกต. ให้ควบคุมการเลือกต้้ง ให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีการใช้อำนาจ ผลประโยชน์ ซื้อตัว ส.ส. ที่ อาจนำไปสู่การทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงได้

ดังนั้นกกต. ต้องมีมาตรการเชิงรุกที่จะแก้ไขปัญหา ควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตให้ได้ ควรสร้างเครือข่ายลงไปถึงพื้นที่โดยเฉพาะกรรมการประจำหน่วย ที่จะต้องมีความหลากหลาย ข้าราชการทุกกระทรวงจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตา สังเกตการณ์เลือกตั้งป้องกันการทุจริต

หากเลือกตั้งสุจริตจะได้ผู้แทนที่มีคุณภาพ และจะมีรัฐบาลที่ชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อไป
 

"ชินวรณ์"เชื่อ นายกฯ จะยุบสภา 15 มี.ค.

นายชินวรณ์ กล่าวถึงปัญหาการประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่ม ติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ว่า เป็นเพราะอคติของบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย หรือญัตติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเป็นญัตติสุดท้ายที่รัฐสภาจะได้พิจารณา และการที่ ส.ส. ส.ว. ลาประชุมนับ 100 คน ถือว่าทำให้ภาพลักษณ์ของสภาฯเสียหาย สะท้อนการทำงานของสมาชิก

หากการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติปราศจากอคติ จะสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นเช่นไรแต่หน้าที่ ความเป็นสมาชิกรัฐสภาถือว่าสำคัญที่สุด 

ทั้งนี้เวลาเหลือก่อนหมดวาระ ก็สามารถขอเปิดประชุมเพื่อพิจารณา เรื่องที่ค้างอยู่ได้ จึงขอให้สมาชิกทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ และจากการหารือกับ วุฒิสภาและ ส.ส. รัฐบาล เห็นด้วยให้นำร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติมาพิจารณาในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ส่วนฝ่ายค้านแม้ไม่เห็นด้วยกับร่างกฏหมายฉบับนี้แต่ก็จะอยู่เป็นองค์ประชุมเพื่อให้พิจารณาได้