ปชป.เปิดเวทีฟังเสียง LGBTQ ทำนโยบายสร้างความเท่าเทียม

04 ธ.ค. 2565 | 17:38 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2565 | 00:57 น.

ปชป.เปิดเวที ฟังเสียง LGBTQ หยุดเหยียด เสริมสร้างความเท่าเทียม “ฟัง- คิด- ทำ” สกัดเป็นนโยบายสร้างการเปลี่ยนแปลง


วันนี้ (4 ธ.ค.65) ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเวทีเสวนา “ฟัง-เสียง LGBTQ หยุดเหยียด...เสริมสร้างความเท่าเทียม" 


โดยมี นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของพรรค  แดนนี่-กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาว LGBTQ ในประเทศไทย แจ๊ส สรวีย์  อดีตมิสทิฟฟานี่ 2009 ตัวแทน LGBTQ ร่วมงานเสวนา และ มี นายเมธวิน อังคทะวานิช อดีตผู้สมัคร ส.ก.เขตพญาไท ของพรรคดำเนินรายการ


ดร.สุชัชวีร์  กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนพูดคุยในเวทีเสวนาครั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะ LGBTQ ที่ไม่เท่าเทียม แต่สังคมไทยยังมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นในทุกเรื่องอาทิ คนพิการ การศึกษาของเด็กชายขอบ เป็นต้น ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องมีความเท่าเทียมกันในทุกด้านอย่างแท้จริง 


พร้อมชวนทุกคนร่วมกันขบคิด นำเสนอวิธีขจัดความไม่เท่าเทียมให้หมดไปเพื่อความสุขของสังคม ทั้งนี้ตนจะนำความคิดเห็น ต่างๆ จากเวทีเสวนาดังกล่าวมาสกัดเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจนบรรลุผลต่อไป


แดนนี่ กิตตินันท์ กล่าวว่า จากการที่คลุกคลีและขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอดระยะเวลายาวนาน พบว่า การเหยียดเพศเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความรุนแรง ซึ่งการกระทำความรุนแรงไม่ใช่ทางกายอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงทางใจด้วย การกีดกันการเข้าถึงสิทธิและหน้าที่ การคุกคามทางเพศ โดยการตีตราและเลือกปฏิบัตินั้นมาจาก


1. ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ และความไม่ตระหนักรู้

 

2. ความเกลียดชัง ความกลัว ความวิตกกังวล

 

3. ค่านิยมความเชื่อ ทัศนคติ วัฒนธรรม และจารีต

 

4. สภาพแวดล้อมที่กำหนดเป็นกฎ ระเบียบ นโยบาย และกฎหมาย

 

ดังนั้น จึงต้องทำให้ทุกปัจจัยนั้นมีหนทางคลี่คลายไปได้ และต้องผลักดันทุกๆ เรื่องไปพร้อมๆกัน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ข้อใดข้อหนึ่งสำเร็จลุล่วงไปก่อน


หากสังคมไทยมีใน 4 เรื่อง คือ

 

1. ความเข้าใจและเปิดพื้นที่ในสังคม

 

2. มีความรู้เรื่องสิทธิ์ และการเข้าถึงสิทธิ์

 

3. การยอมรับแบบไม่มีเงื่อนไข

 

4. มีความเคารพซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้สังคมไทยนำไปสู่การไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ละเมิดสิทธิ์ได้ แต่เวลานี้เรายังวังวนกับข้อ 1

                ปชป.เปิดเวทีฟังเสียง LGBTQ ทำนโยบายสร้างความเท่าเทียม

 

ดังนั้น จึงเกิดกระบวนการแก้ไขต่างๆ กันอยู่อย่างไม่สิ้นสุด ทำให้คนกลุ่ม LGBTQ ถูกกระทำความรุนแรง ตั้งแต่รูปแบบการร้ายร่างกาย การทำลายจิตใจ การกีดกันไม่ให้เข้าถึงสิทธิ และหน้าที่ รวมไปถึงการบูลลี่ และเหยียดเพศอยู่ตลอดเวลา


ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการเหยียด และการเลือกปฏิบัติก็คือ 1. ผู้กำหนดนโยบาย 2. องค์การระหว่างประเทศ 3. ภาคประชาสังคม 4. ผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหา หากเราขยี้แต่ละอัน โดยลืมบางอัน ชาตินี้ทั้งชาติจะไม่มีวันทำอะไรเสร็จเลย

 

ดังนั้น หลักการคิดจะมีฐานคิดง่ายๆ เท่านั้น เพียงแต่เราพยายามทำให้คนเท่ากัน เพียงข้อแรกไม่ต้องแยกเขาแยกเราเรื่องก็จบ


นายแทนคุณ กล่าวว่า ความเป็นพรรคประชาธิปัตย์นั้น มีความเป็นอนุรักษ์นิยม แต่ท่านหัวหน้าพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ LGBTQ+  และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

 

จึงมอบหมายให้ตนได้มีโอกาสทำงานเพื่อสนับสนุนในเรื่องนี้ และได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนทำหน้าที่เสมือนอิฐก้อนแรกเป็นฐานราก ให้คนที่เป็น LGBTQ ได้มายืนข้างบนตนขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งยืนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งกว้างมากขึ้นเรื่อย


นอกจากนี้ การที่พรรคประชาธิปัตย์จัดโครงการ “ฟัง- คิด- ทำ” เพื่อนำมาจัดทำนโยบาย ซึ่งมีการลงพื้นที่จัดเสวนา ให้ความรู้ อีกทั้งรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ พบว่าปัญหาในสังคมไทยคือความไม่เข้าใจซึ่งนำไปสู่ความกลัว และความเกลียดชัง


ดังนั้น ตนและพรรคเปิดกว้างรับฟัง ช่วยแก้ไขปัญหา อีกทั้งจะนำเอาองค์ความรู้มาสกัดเป็นนโยบาย เพื่อลดการเลือกปฏิบัติ สะท้อนมุมมอง กระตุ้นบางมิติ บางประเด็น เพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้จากกลุ่มเล็กๆ ที่เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว


 
ส่วน แจ๊ส สรวีย์ กล่าวว่า จากช่วงเวลาที่ตนบวชในพุทธศาสนาร่วม 10 ปี ทำให้เห็นช่องว่างว่า ตนขาดองค์ความรู้ที่โลกได้พัฒนาไป ซึ่งในทางพุทธศาสนา ความไม่รู้ ก็คือ อวิชา และสิ่งที่จะทำให้แจ้งก็คือ วิชา 


แต่แม้เราจะตั้งเวทีเสวนา หรือหลายๆ องค์กรที่มีบทบาทในการแก้ไข ก็ยังไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เดี๋ยวนี้ แต่จะต้องใช้ระยะเวลา และองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องไม่ถือเอา อัตตาธิปไตย หรือ การถือเอาความคิดของตนเป็นใหญ่

 

เพราะอัตตาธิปไตยจะวนเวียนอยู่ในกิเลสทั้งปวง ทำให้ไม่สามารถก้าวไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและแท้จริง นอกจากนี้หากยังวนอยู่กับ “โล” หรือโลก ซึ่งเรียกว่าโลกาธิปไตย ปัญหาก็จะยังวนซ้ำอยู่อย่างนั้น ไม่หลุดออกจากหลุมดำเดิมๆ

                        ปชป.เปิดเวทีฟังเสียง LGBTQ ทำนโยบายสร้างความเท่าเทียม
การแก้ไข เปลี่ยนแปลงปัญหาเก่าที่เกิดขึ้นเพื่ออนาคต และความสุขที่จะเดินไปด้วยกันทุกเพศ ทุกวัย กับมวลมนุษยชาติในโลกใบนี้ ไม่ใช่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้ ธรรมาธิปไตย หรือ ใช้หลักธรรม ที่ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกองค์กร ควรถือเป็นใหญ่ ก็จะทำให้การเหยียด ความรุนแรงต่างๆ จะลดน้อยลง ซึ่งการถือครองศีล 5 นั้น แม้วันนี้ยังถือครองศีลได้ไม่ครบทั้ง 5 ข้อ แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะเป็นแนวทางพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีได้


ส่วน เอื้อง ชมพูนุท นาครทรรพ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมเวทีเสวนาได้ แต่ได้แสดงความเห็นผ่านเพจ Modern BKK ว่า ต้องขอชื่นชมพรรคประชาธิปัตย์ ที่จัดการเสวนาเรื่องนี้ แม้การเสวนาออกจะหนักไปทาง “G” มากกว่าตัวอักษรอื่นๆ ใน LGBTQIN+ ซึ่งน่าจะได้ข้อคิดเห็นจาก L หรือ Q เพิ่มขึ้น 


จึงรู้สึกเสียดายที่ตนติดภารกิจจริงๆ แต่ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งใน LGBTQI+ ที่ได้ทำงาน และมีบทบาทในการร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มาจนถึง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จึงหวังว่าร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ที่มีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น จะสามารถเข้าสู่การพิจารณาในสภา เพื่อบังคับใช้ได้ทันในรัฐบาลสมัยนี้