รัฐบาลแจง ต่างชาติถือที่ดินไทย 1 ไร่รองรับเฉพาะ 4 กลุ่มได้สิทธิ  LTR Visa

28 ต.ค. 2565 | 22:40 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 21:19 น.

รัฐบาลแจง ต่างชาติถือกรรมสิทธิที่ดินไทย ไม่เกิน1 ไร่ เพื่ออยู่อาศัย นำเงินลงทุนในไทยไม่เกิน40ล้านบาท บังคับใช้ตั้งแต่ปี2545 ช่วงโควิด ครม.ปรับเงื่อนไข กระตุ้นเศรษฐกิจขีดวงรองรับเฉพาะ 4 กลุ่มได้สิทธิ  LTR Visa

 

  มาตรการเปิดทางต่างชาติถือครองที่ดินไทยไม่เกิน1ไร่ มีผลบังคับใช้โดยออกเป็นกฎกระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่ปี2545 ครั้งนั้นเพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี2540 โดยมี เงื่อนไขว่าต้องนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศ ไม่ต่ำกว่า40ล้านบาท ครั้งนี้ก็เช่นกัน ประเทศได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด แต่กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่ารัฐบาลออกกฎหมายขายชาติ

 

 

  

 

วันที่ 28 ตุลาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงข้อวิจารณ์กรณีคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …

… ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินได้ชี้แจงยืนยันว่าชาวต่างชาติที่ได้สิทธิ LTR Visa ต้องนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ในธุรกิจหรือกิจการตามที่ร่างกฎกระทรวงฯกำหนด และต้องคงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงจะสามารถยื่นเรื่องขอใช้สิทธิถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่

 

นายอนุชากล่าวว่า ก่อนหน้านั้น ครม.เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

โดยกรมที่ดินได้ชี้แจงว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้รับการมอบหมายให้พิจารณาความเหมาะสมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวีซ่าประเภท ผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa : LTR) แก่กลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

 

รวมทั้งการศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิในการถือครองที่ดินของคนต่างชาติ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการนำเงินมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งกรมที่ดินได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนแล้ว ได้ข้อสรุปว่า กฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิคนต่างชาติถือครองที่ดินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้ว

 

การกำหนดแนวทางเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุน เห็นควรดำเนินการเพียงแค่การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการให้สิทธิในการขอถือครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ให้รองรับเฉพาะชาวต่างชาติ 4 กลุ่มที่ได้รับสิทธิ LTR Visa เท่านั้น

 

นายอนุชากล่าวว่า โดยร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … มีหลักเกณฑ์รายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย

 

ในส่วนที่แตกต่างจากกฎกระทรวงปัจจุบันที่ให้สิทธิชาวต่างชาติ ในเรื่อง กำหนดให้ใช้สำหรับคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มดังกล่าว ที่ได้สิทธิวีซ่าพำนักระยะยาว หรือ LTR Visa ภายใต้เงื่อนไข ต้องนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ในธุรกิจหรือกิจการ ตามที่ร่างกฎกระทรวงกำหนด และต้องคงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี

 

ถึงจะสามารถยื่นเรื่องขอใช้สิทธิถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง โดยจะมีผลใช้บังคับเพียงแค่ 5 ปี และขณะนี้ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ยังต้องผ่านขั้นตอนการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน

 

“การให้สิทธิในการถือครองที่ดิน จำกัดเฉพาะการใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย รายละไม่เกิน 1 ไร่ หากได้รับสิทธิ ครบ 1 ไร่ แล้ว ต่อมาได้มีการขายที่ดินไปทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน แม้จะมีการลงทุนเพิ่มเติม ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะไม่สามารถขอใช้สิทธิดังกล่าวได้อีก ทั้งนี้ หากชาวต่างชาติรายใดไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งให้จัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้” นายอนุชากล่าว

 

นายอนุชา กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อมูลคนต่างชาติที่ขอใช้สิทธิถือครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยตามกฎกระทรวง พ.ศ.2545 และยังใช้อยู่จนถึงขณะนี้ กรมที่ดินรายงานว่ามีจำนวนรวม 8 ราย โดยแต่ละรายใช้สิทธิไม่เกิน 1 ไร่ ยืนยันว่าร่างกฎกระทรวงฯนี้ มีรายละเอียดขั้นตอนที่กำกับไว้อย่างชัดเจนกล่าว