รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... เพื่อเปิดให้ ต่างชาติซื้อบ้าน-ถือครองที่ดิน เป็นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย
โดยครอบคลุมต่างชาติ 4 ประเภท คือ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชียวชาญพิเศษ
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง สรุปได้ดังนี้
กำหนดประเภทของคนต่างด้าว (ที่สามารถขอได้มาซึ่งที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย)
คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 โดยไม่รวมผู้ติดตามของคนต่างด้าวดังกล่าว ได้แก่
- กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง
- กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
- กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
- กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
จำนวนเนื้อที่
- ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
จำนวนเงินลงทุนและ ระยะเวลาการดำรงทุน
- ต้องไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และดำรงทุนการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันยื่นคำขอ (กฎกระทรวงฯ พ.ศ.2545 กำหนด 5 ปี)
- ให้นับมูลค่าการลงทุน ณ วันที่ยื่นคำขอ
- หากถอนการลงทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลาการดำรงทุน (ถอนก่อนครบกำหนด 3 ปี) สิทธิที่จะได้มาซึ่งที่ดินในส่วนที่ยังไม่ครบจำนวน (1 ไร่) เป็นอันระงับไป
ประเภทธุรกิจหรือกิจการ ในการลงทุนและเงื่อนไข
คนต่างด้าวต้องลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด หรือหลายประเภทรวมกัน ดังนี้
- การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงิน หรือดอกเบี้ย
- การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (เพิ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจากกฎกระทรวงฯ พ.ศ.2545)
- การลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (เพิ่มขึ้นใหม่จาก กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2545)
- การลงทุนในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
- การลงทุนในกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศ ให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับ การส่งเสริมการลงทุนได้ตามกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมการลงทุน
กรณีมีการจำหน่ายที่ดิน
- กรณีมีการจำหน่ายที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนครบกำหนดจำนวน (1 ไร่) ให้นำจำนวนที่ดินในส่วนที่ได้จำหน่ายไปแล้วมารวมกับสิทธิที่จะได้มา ซึ่งที่ดินตามกฎกระทรวงนี้ด้วย
- กรณีที่ได้มาซึ่งที่ดินครบจำนวน 1 ไร่แล้ว ต่อมาได้จำหน่ายที่ดินทั้งหมด หรือบางส่วนไป สิทธิที่จะได้มาซึ่งที่ดินตามกฎกระทรวงนี้เป็นอันระงับไป
หนังสือรับรอง
การขอได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยต้องมีหนังสือรับรองประเภท ธุรกิจหรือกิจการที่ได้มีการลงทุนจากหน่วยงาน ดังนี้
- การลงทุนพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงิน หรือดอกเบี้ย ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานผู้ออกพันธบัตร เป็นผู้ออกหนังสือรับรอง
- การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้าง พื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ออกหนังสือรับรอง
- การลงทุนในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน หรือการลงทุนในกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็น กิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เป็นผู้ออกหนังสือรับรอง
การรวมสิทธิตามกฎกระทรวง ปี 2545
- ให้นำการลงทุนในธุรกิจหรือกิจการตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 ในส่วนที่ยังไม่ได้ถอนการลงทุนมารวมกับเงินลงทุนตาม กฎกระทรวงนี้ได้
- กำหนดให้สิทธิในที่ดินที่ได้มาตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 และสิทธิที่จะได้มาตามกฎกระทรวงนี้ รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1 ไร่ และกำหนดให้นำจำนวนที่ดินในส่วนที่ได้จำหน่ายไปแล้วมารวมด้วย
กำหนดเขตพื้นที่
- ต้องอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วย การผังเมือง และต้องอยู่นอกเขตปลอดภัยในราชการทหารตามกฎหมาย ว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร
ขั้นตอน เงื่อนไข และวิธีขอ
- ให้ยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานตามแบบแนบท้ายกฎกระทรวงฯ เมื่อเห็นว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้อง ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังอธิบดี กรมที่ดินเพื่อพิจารณาเสนอรัฐมนตรีต่อไป
- ต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง โดยไม่ขัดต่อศีลธรรม จารีตประเพณี หรือวิถีชีวิตอันดีของชุมชนในท้องถิ่นนั้น
- ผู้ได้รับอนุญาตต้องแจ้งการใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วันนับแต่วันเริ่มใช้ที่ดินนั้น
- ผู้ได้รับอนุญาตถอนการลงทุนในธุรกิจหรือกิจการก่อนครบกำหนดเวลา การดำรงทุน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถอนการลงทุน
ระยะเวลาบังคับใช้
- 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา