สมาคมมิตรภาพไทย-จีน “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน”

24 ต.ค. 2565 | 08:27 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2565 | 15:42 น.

“กร ทัพพะรังสี” นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ชี้ความสัมพันธ์กับไทยตลอด 47 ปีสุดแน่นแฟ้น ล่าสุดกับโครงการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน ประกาศความร่วมมือ สู่อนาคตที่เปิดกว้างร่วมกัน

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ถือเป็นกิจกรรมสำคัญทางการเมืองของจีนที่ทั่วโลกให้ความสนใจและจับตามองอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงกำหนดอนาคตของประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อประชาคมโลก รวมถึงประเทศไทย
 

โดยเฉพาะมุมมองต่อคำกล่าว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ณ การเปิดประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ที่ย้ำว่า จีนยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ โดยยึดมั่นในเป้าหมายของนโยบายระหว่างประเทศ โดยมุ่งธำรงรักษาสันติภาพของโลก และส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันเสมอมา 
 

นายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน กล่าวว่า การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” หรือ Peaceful Co-Existence เป็นคำที่จีนได้เน้นย้ำในการเปิดประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ซึ่งนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ก้าวมาเป็นผู้นำจีนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ได้นำเสนอข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ “อีไต้อีลู่” (Belt and Road Initiatives) ซึ่งจีนพร้อมเปิดกว้างสู่ประชาคมโลก ครั้งนี้จึงนับเป็นการออกมาเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า จีนจะอยู่ร่วมกันกับสังคมโลกโดยสันติ และเดินไปข้างหน้าด้วยกันเพื่อความเจริญรุ่งเรือง  
 


 

 

“จากคำกล่าวของผู้นำจีน ที่ได้ออกมาย้ำอีกครั้ง Belt คือ Belt of Peace ส่วน Road คือ Road to Prosperity หมายถึงการเชื่อมโยงกันไว้ด้วยสันติภาพ และเดินไปสู่บนถนนที่นำไปสู่ความเจริญร่วมกันกับสังคมโลก” นายกร กล่าว  
 

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญๆ ถึงเป้าหมายของประเทศจีนต่อประชาคมโลก อาทิ การมีส่วนร่วมกับสังคมโลกในการช่วยกันลดภาวะโลกร้อน รวมถึงลดมลภาวะที่เป็นพิษ เพื่ออนาคตของโลกที่ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050, การพัฒนาประเทศเพื่อก้าวไปสู่อนาคต โดยการใช้นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาร่วมกันของโลก เป็นต้น  
 

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สังคมโลกได้ประจักษ์ถึงความสำเร็จในการพัฒนาของจีนว่า สามารถแก้ปัญหาความยากจน พร้อมยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนจีนได้จริง ภายใต้การนำของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และมีความจริงใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจีนให้ดีขึ้น และเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว จีนยังพร้อมที่จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ แบ่งปันโอกาสความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาแก่ประเทศอื่นๆ ในโลกให้สามารถหลุดพ้นจากปัญหาความยากจน พร้อมร่วมผลักดันประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ ” นายกร กล่าว

 

นายกร กล่าวว่า ในด้านของความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างประเทศไทย และประเทศจีน ที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นระยะเวลา 47 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการกระชับความร่วมมือในด้านทางการทูต เศรษฐกิจ การลงทุน รวมถึงนวัตนธรรมด้านการท่องเที่ยวที่แน่นแฟ้น ซึ่งจากคำกล่าวของผู้นำจีนในการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ในครั้งนี้ ไม่เพียงตอกย้ำถึงการเริ่มต้นเดินทางครั้งใหม่ในการสร้างจีน ให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่เข้มแข็งและทันสมัยทุกด้าน แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่พร้อมเปิดศักราชใหม่แห่งความร่วมมือ เพื่อก้าวสู่อนาคตที่เปิดกว้างร่วมกัน
 

“ไทยและจีนมีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิด ดังคำกล่าว จีนไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน หรือ จงไท่อี้เจียชิน ถึงแม้จะไทยและจีน จะไม่มีชายแดนติดต่อกัน แต่ในด้านความสัมพันธ์มีความแน่นแฟ้นเหมือนพี่น้องครอบครัวเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ผมได้ยินจากผู้นำทุกสมัยตลอดระยะเวลา 47 ปีที่ไทยและจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน” นายกร กล่าว
 

ล่าสุดหนึ่งในความร่วมมือสำคัญ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่ออย่างเป็นรูปธรรม คือ โครงการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน ซึ่งขณะนี้รถไฟจากประเทศจีน-ลาว ได้เชื่อมต่อกันแล้ว และระยะถัดไปจะเชื่อมต่อกับประเทศไทย และอนาคตอาจมีการเชื่อมต่อไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์เพิ่มเติม
 

“ผมใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งเราจะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงเดินทางไปมาหาสู่กัน จากสถานีกลางบางซื่อที่กรุงเทพฯ ไปถึงเมืองคุณหมิง ประเทศจีน นี่คือเป้าหมายที่ผมคิดไว้ในใจ และเชื่อว่าจะทำได้แน่นอนในอนาคต” นายกร กล่าว 
 

นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 10 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย-จีน และในปี 2566 จะครบรอบ 20 ปีของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน โดยประเทศไทยและจีน มีความยินดีที่จะดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อสร้างมิติใหม่ของ “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”